อ่านบทความของคุณสายพิณ แก้วงามประเสริฐ แล้วบอกได้คำเดียวว่า โธ่..ประเทศไทย  

ไม่เถียงค่ะว่าเด็กไทยที่เก่งวิชาการก็มีเยอะ สอบได้เหรียญในระดับโลกโอลิมปิกวิชาการมาแล้วทุกสาขา แต่คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์คะ
เด็กส่วนใหญ่ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ สอบวัดผลออกมากี่ครั้งก็ตกกราวรูดน่าเป็นห่วงเหลือเกิน
นี่เป็นตัวชี้ได้ไหมว่าแผนการศึกษาเรามาผิดทาง ชั่วโมงเรียนเราเยอะมากที่สุดในโลกแต่ผลสัมฤทธิ์แสนจะต่ำ สำรวจการอ่านหนังสือ
ก็อ่านไม่ออก ทั้งๆที่เรียน ป.3 ป.4 แล้ว  ..เลิกบ่นดีกว่า เชิญเพื่อนๆอ่านรายละเอียดเรื่องนี้ด้านล่างค่ะ  
 


สายพิน แก้วงามประเสริฐ : เพิ่มชั่วโมงเรียน เพิ่มคุณภาพตรงไหน ?

(ที่มา หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2555)

สพฐ.มีคำสั่งให้โรงเรียนประถม มัธยมทั่วประเทศเพิ่มเวลาเรียน โดยกำหนดให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาต้องมีเวลาเรียนรวมจากเดิม
ที่เรียนไม่เกิน 1,000 ชั่วโมง เป็นไม่น้อยกว่า 1,000 ชั่วโมงต่อปี ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จากเดิมที่เรียนไม่เกิน 1,200 ชั่วโมง
เป็นไม่น้อยกว่า 1,200 ชั่วโมงต่อปี

หากดูผิวเผินคำสั่งนี้เหมือนไม่น่าจะมีผลกระทบอะไร ไม่เห็นต้องมีใครเดือดร้อน แต่เป็นคำสั่งที่แสดงให้เห็น ระบบราชการที่รวม
ศูนย์อำนาจ ที่คิดจากส่วนกลางแล้วสั่งลงมา โดยไม่ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นใดๆ ก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำกันเป็นปกติวิสัยของ
ระบบราชการไทย

การเพิ่มชั่วโมงเรียนโดยอ้างว่า "การจัดโครงสร้างชั่วโมงเรียนแบบเดิมไม่เวิร์ก" จึงต้องเพิ่มชั่วโมงเรียน แล้วแน่ใจได้อย่างไรว่าการ
เพิ่มชั่วโมงเรียนจะสามารถพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้ ?

ขณะนี้โรงเรียนจัดการเรียนการสอนกันอย่างเต็มที่ วันหนึ่งมีเวลา 8 ชั่วโมง จัดเป็นชั่วโมงเรียน 7 ชั่วโมง สมมุติเด็กมีชั่วโมง
เรียนสัปดาห์ละ 31 ชั่วโมง คือเรียน คณิตศาสตร์ 3 ชั่วโมง วิทยาศาสตร์ 3 ชั่วโมง ภาษาไทย 3 ชั่วโมง ภาษาอังกฤษ 3 ชั่วโมง
สังคมศึกษา 3 ชั่วโมง ประวัติศาสตร์ 1 ชั่วโมง คอมพิวเตอร์ 2 ชั่วโมง ศิลปะ 1 ชั่วโมง พลศึกษา 1 ชั่วโมง สุขศึกษา 1 ชั่วโมง
วิชาการงาน 2 ชั่วโมง วิชาเพิ่มเติมเลือกตามความสนใจอีก 2 วิชา รวม 4 ชั่วโมง กิจกรรมแนะแนว 1 ชั่วโมง กิจกรรมชุมนุม 1
ชั่วโมง กิจกรรมลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด 1 ชั่วโมง ชั่วโมง พัฒนาคุณธรรมอีก 1 ชั่วโมง

รวมเบ็ดเสร็จ 31 ชั่วโมง  หากคิดเป็นจำนวนรายวิชาก็ไม่น้อย หากครูสั่งงาน สั่งการบ้านกันทุกคนทุกสัปดาห์ คิดดูว่ากรรมจะตก
แก่ผู้เรียนขนาดไหน อาจถึงขั้นเบื่อการเรียนกันไปเลยทีเดียว

หากเด็กชั้นมัธยมต้นเรียนสัปดาห์ละ 31 ชั่วโมง เด็กจะมีเวลาว่างสัปดาห์ละ 4 ชั่วโมง เด็กได้ใช้เวลาเหล่านี้ไปทำอะไร? คำตอบคือ
นอกจากเด็กจะได้ใช้เวลาเหล่านี้ตั้งแต่การพักผ่อนพูดคุยกับเพื่อน มีเวลาให้สมองปลอดโปร่งให้หลุดพ้นจากห้องสี่เหลี่ยมแคบๆ
ในห้องเรียนที่พยายามอัดยัดเยียดความรู้ที่มีมากมาย การพักผ่อนเพื่อให้มีพลังพอที่จะต่อสู้กับการเรียนที่หนักหนาสาหัส

การเรียนในระดับชั้นมัธยมเป็นการเรียนระดับพื้นฐาน ชอบหรือไม่ชอบ ถนัดหรือไม่ถนัดก็ต้องเรียน เพราะรัฐกำหนดให้เป็นพื้นฐาน

ที่มนุษย์ทุกคนที่ผ่านการเรียนในโรงเรียนต้องรู้ เมื่อเป็นดังนี้การปล่อยให้เด็กได้ว่างจากการเรียนบ้าง ได้ทำกิจกรรมที่เป็นอิสระบ้าง
คงดีกว่ากักเขาไว้ในห้องเรียนแล้วต้องฟังครูอย่างเดียว

หากเด็กเรียนสัปดาห์ละ 31 ชั่วโมง ปีหนึ่งเด็กจะเรียนทั้งหมด 40 สัปดาห์ หักเวลาที่ใช้สอบกลางภาค ปลายภาค 2 เทอม เหลือเวลา
เรียนจริงๆ 36 สัปดาห์ คิดเป็นชั่วโมงเรียนรวม 1,116 ชั่วโมง นี่ขนาดเรียนเต็มเหยียดยังน้อยกว่าคำสั่งใหม่ของ สพฐ.ถึง 84 ชั่วโมง
หรืออาจต้องมากกว่านี้ เพราะหากต้องจัดชั่วโมงเรียนไม่น้อยกว่า 1,200 ชั่วโมงต่อปีแล้ว เด็กต้องเรียนอย่างน้อยสุดสัปดาห์ละ 34
ชั่วโมง จึงจะได้ชั่วโมงตามเกณฑ์ คือไม่น้อยกว่า 1,200 ชั่วโมงต่อปี แสดงว่าเด็กจะว่างสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง เวลาแค่นี้เด็กสามารถ
ทำกิจกรรมอื่นๆ นอกห้องเรียนได้สักกี่มากน้อย ทำให้ชีวิตจะเต็มไปด้วยความเครียด

หากโรงเรียนต้องจัดสอน 1,224 ชั่วโมง (34 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) แสดงว่าโรงเรียนที่เคยสอน 31 ชั่วโมง จะต้องมีชั่วโมงเพิ่มขึ้นอีก
108 ชั่วโมง หรือถ้าคิดเป็นระดับชั้นมัธยมต้น หากต้องเพิ่มชั่วโมงสอนอีก 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ถ้าโรงเรียนมีนักเรียนชั้นมัธยมต้น 40
ห้องเรียน แสดงว่าจำนวนชั่วโมงที่ต้องสอนเพิ่มต่อสัปดาห์คือ 120 ชั่วโมง ต้องใช้ครูกี่คนมาช่วยสอน ในเมื่อครูแต่ละคนมีชั่วโมงสอน
ที่เต็มเหยียดและภาระในความเป็นครูอีกมากมาย โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดใหญ่ที่อายุครูเฉลี่ยส่วนใหญ่อยู่ในวัยใกล้เกษียณ หรือ
เกษียณอายุก่อนกำหนด กว่ารัฐจะจัดสรรตำแหน่งมาให้ก็ไม่ทันเหตุการณ์ ครูก็ต้องแบกภาระกันต่อไป ส่งผลต่อขวัญและกำลังใจ
เป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อรู้สึกว่าผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการศึกษาเหลียวแลครู หรือต่อสู้เพื่อครูในเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน?

สถานการณ์ในปัจจุบัน เด็กไทยมีชั่วโมงเรียนน้อยไปหรืออย่างไร อีกทั้งการอ้างงานวิจัยที่บอกว่า "การแก้ไขโครงสร้างเวลา
เรียนดังกล่าว สืบเนื่องจากการศึกษาวิจัยและติดตามผลการใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 พบว่า
ไม่เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียน และความต้องการของผู้เรียน จึงได้มีการทบทวนเรื่องดังกล่าวใหม่"

จากข้อความดังกล่าวนี้ทำให้สงสัยว่างานวิจัยนี้ทำเมื่อใด ในเมื่อหลักสูตรแกนกลางเริ่มใช้ทั่วประเทศได้แค่ 2 ปี เวลาแค่นี้
ความคิดและผลของการใช้หลักสูตรจะตกตะกอนพอเป็นข้อสรุปได้แล้วหรือ อีกทั้งที่ว่าไม่เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียนนั้น
เกี่ยวกับจำนวนชั่วโมงเรียนตรงไหน หรือการกำหนดเนื้อหาสาระที่ให้เรียนไม่เหมาะกับสภาพท้องถิ่นกันแน่ ที่อ้างว่าไม่เหมาะ
กับความต้องการของผู้เรียนนั้น นักเรียนต้องการเพิ่มชั่วโมงเรียนจริง ?

หากถามเด็กกันจริงๆ จะพบว่าการเรียนระดับชั้นมัธยมเป็นการเรียนที่ยุ่งยากมาก เด็กจะมีภาระงานจากการเรียน กิจกรรมพัฒนา
ผู้เรียน จนแทบไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่น แต่ละโรงเรียนใช้เวลาเรียนกันอย่างเต็มที่ วิชาที่เด็กเรียนชั่วโมงก็เต็มที่ หากถามกันจริงๆ
เด็กอาจอยากให้ลดเนื้อหาสาระที่อัดแน่นเกินไป ทำให้การศึกษาไทยได้แต่ปริมาณ เรียนเยอะเข้าไว้ แต่คุณภาพเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เด็กไทยเรียนน้อยไป ? แต่จากข้อมูลของ UNESCO พบว่า

เด็กไทยเรียนหนักเป็นอันดับ 2 ในระดับอายุ 9 ปี 1,080 ชั่วโมงต่อปี

เด็กไทยเรียนหนักเป็นอันดับ 1 ในระดับอายุ 10 ปี 1,200 ชั่วโมงต่อปี

เด็กไทยเรียนหนักเป็นอันดับ 1 ในระดับอายุ 11 ปี 1,200 ชั่วโมงต่อปี

เด็กไทยเรียนหนักเป็นอันดับ 5 ในระดับอายุ 12 ปี 1,167 ชั่วโมงต่อปี

เด็กไทยเรียนหนักเป็นอันดับ 8 ในระดับอายุ 13 ปี 1,167 ชั่วโมงต่อปี

ส่วนประเทศอื่นๆ (เด็กอายุ 11 ปี)

อันดับ 2 อินโดนีเซีย 1,176 ชั่วโมงต่อปี

อันดับ 3 ฟิลิปปินส์ 1,067 ชั่วโมงต่อปี

อันดับ 4 อินเดีย 1,051 ชั่วโมงต่อปี

อันดับ 11 มาเลเซีย 964 ชั่วโมงต่อปี

อันดับ 19 เยอรมนี 862 ชั่วโมงต่อปี

อันดับ 28 จีน 771 ชั่วโมงต่อปี

อันดับ 30 ญี่ปุ่น 761 ชั่วโมงต่อปี


จากสถิติขององค์การยูเนสโกพบว่า เด็กไทยที่อยู่ในวัยเดียวกับเด็กต่างชาตินั้น เด็กไทยเรียนมากกว่าชาติใดๆ โดยเฉพาะประเทศ
ที่เจริญแล้วล้วนมีจำนวนชั่วโมงเรียนน้อยกว่าเด็กไทยมาก ในกรณีของประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศที่เด็กเอาใจใส่ในการเรียนมาก
แต่เด็กจีนกลับเรียนมีจำนวนชั่วโมงเรียนน้อยกว่าเด็กไทยหลายร้อยชั่วโมง นอกจากนี้การเรียนของจีนยังค่อนข้างผ่อนคลาย

การให้เพิ่มจำนวนชั่วโมงเรียนในทันที สะท้อนระบบราชการไทย ทั้งที่บริบทและความพร้อมของโรงเรียนมีความแตกต่างกัน แสดง
ว่าผู้มีส่วนในการจัดการศึกษาไม่ได้เข้าใจพื้นฐานการศึกษาอย่างที่เป็นจริง เพราะไม่ได้ออกมาสัมผัสว่าแต่ละโรงเรียนมีความพร้อม
มากน้อยแตกต่างกันอย่างไร เมื่อเป็นเช่นนี้จึงจำเป็นต้องฟังเสียงสะท้อนกลับจากผู้ปฏิบัติที่ขลุกอยู่กับสภาพจริงของโรงเรียนอยู่ทุก
เมื่อเชื่อวัน


อีกทั้งไม่มีงานวิจัยหรือตัวบ่งชี้ใดๆ ที่แสดงว่า การเพิ่มชั่วโมงเรียนจะทำให้การศึกษาไทยมีคุณภาพเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด และสภาพที่
เป็นอยู่ทุกวันนี้เด็กไทยเรียนหนักอยู่ในลำดับต้นๆ ไม่น้อยหน้าใครในโลกนี้อยู่แล้ว ส่วนลำดับคุณภาพการศึกษาไทยกลับไม่ได้เป็น
ไปในทิศทางเดียวกับความหนักของชั่วโมงเรียนแต่อย่างใด

 http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1329825775&grpid=03&catid=03