ป้ายโฆษณา



ป้ายโฆษณา

ก่อนซื้อโทรศัพท์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์มือสอง ตรวจ S/N ที่แจ้งหาย/ถูกขโมยที่นี่!! BlockSerial.Com
 

Blog Me!

เปิดกว้างสำหรับเพื่อนสมาชิกที่ชอบการเขียน การจัดบันทึก การเขียน blog ก็คล้ายกับการที่เรามีสมุดกันคนละเล่มในนี้ อยากเขียนอะไรก็เขียน จะแบ่งให้ผู้สนใจและเพื่อน ๆ ได้อ่านแล้วมีส่วนร่วมผ่านทาง comment ก็ได้ หรือจะอยากเก็บไว้เป็นการส่วนตัวก็ได้ การเขียน blog จะช่วยทำให้เรารู้จักการเรียบเรียงเรื่องราวที่ต้องการจดบันทึก การนำเสนอ และได้แบ่งปันความรู้ นานาทัศนะต่อกัน ที่สำคัญ! ยังเป็นการบันทึกไว้ในโลกอินเตอร์เน็ตที่ใคร ๆ ก็มีโอกาสได้เห็น blog ของคุณ!

โพสต์โดย แม่น้องกานต์
แม่น้องกานต์
แม่น้องกานต์ ยังไม่ได้ตั้งค่าประวัติส่วนตัว
สมาชิกยังไม่ได้ออนไลน์
เมื่อ พุธ, 13 มิถุนายน 2012
ใน นานาทรรศนะ

ระบบการศึกษาไทย ทำให้ทุกคนฉลาดหรือ...โดยเท่าเทียมกัน?

ชวนคุยเข้มเรื่องระบบการศึกษาของลูก "เชาวน์ปัญญา เป็นสิ่งที่ท่านมีมาแต่กำเนิด มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตท่านตั้งแต่แรกเริ่ม
เด็กทุกคนเกิดมาพร้อมเชาวน์ปัญญา พวกเขามีความแหลมคม แต่พอพวกเขาโตเป็นผู้ใหญ่ สิ่งเหล่านี้กลับหายไปจนเกือบจะหมดสิ้น
มันต้องมีบางสิ่งบางอย่างที่ ผิดปกติเกิดขึ้นระหว่างทางเป็นแน่"


ได้อ่านข้อความจาก facebook คุณพ่อเสก ที่แชร์มาจาก facebook.com/sudyorda อ่านแล้วโดนเต็มๆจนต้องนำมาเล่าต่อ

"ในวันหนึ่งสัตว์ทั้งหลายในป่าได้มารวมตัวกัน และตัดสินใจว่าจะตั้งโรงเรียนของสัตว์ขึ้นมา กระต่าย นก กระรอก ปลา
และปลาไหล ได้รับเลือกให้เป็นกรรมการพัฒนาหลักสูตร

กระต่ายยืนกรานว่าเรื่องการวิ่งจะต้องเป็นวิชาหนึ่งในหลักสูตร
นกบอกว่าเรื่องการบินก็ต้องอยู่ในหลักสูตร
ปลาบอกว่าการว่ายน้ำจะต้องอยู่ในหลักสูตรเช่นกัน
ส่วนกระรอกนั้นบอกว่าการปีนขึ้นต้นไม้ในแนวดิ่งก็เป็นสิ่งที่จำเป็น และเห็นว่าน่าจะต้องรวมไว้ในหลักสูตรด้วย

ซึ่งในที่สุดพวกสัตว์ทั้งหลายที่ได้รับมอบหมายให้ร่างหลักสูตรก็ได้นำวิชาต่างๆ เหล่านี้มารวมกัน และจัดทำเป็นหลักสูตรขึ้นมา 
พวกมันได้ป่าวประกาศไปยังสัตว์ทั้งหลาย และบังคับให้สัตว์ที่เข้าเรียนหลักสูตรนี้จะต้องผ่านทุกวิชาตามที่กำหนดไว้

กระต่ายซึ่งเคยได้เกรดเอจากการวิ่ง มีปัญหามากในเรื่องการปีนต้นไม้ในแนวดิ่ง มันปีนขึ้นไปแล้วก็ตกลงมาครั้งแล้วครั้งเล่า
ในที่สุดหัวสมองของมันก็ถูกกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง ทำให้ไม่สามารถจะวิ่งต่อไปได้ จากที่มันเคยได้เกรดเอในการวิ่ง
ตอนนี้มันกลับได้เกรดซี และที่แน่นอนก็คือมันได้เอฟ (สอบตก) ในการปีนต้นไม้ นกที่เคยเก่งมากในเรื่องการบิน แต่พอต้อง
เรียนวิชาขุดโพรงลงไปในดิน มันก็ทำได้ไม่ดีนัก จะงอยปากของมันแตกและปีกของมันก็หัก ไม่ช้าไม่นานมันก็ได้เกรดซี
ในวิชาการบิน และได้เอฟในวิชาขุดโพรง และมันก็ประสบปัญหาในเรื่องการปีนต้นไม้ในแนวดิ่งเช่นกัน

ในที่สุดสัตว์ที่สามารถเรียนจบผ่านหลักสูตรนี้ไปได้กลับกลายเป็นเจ้าปลาไหล ที่ทำทุกอย่างผ่านได้แบบครึ่งๆ กลางๆ
แต่มันก็ทำให้ผู้สร้างหลักสูตรมีความสุข ที่เห็นว่าสัตว์เหล่านั้นได้เรียนรู้ทุกวิชาที่เหล่าบรรดากรรมการหลักสูตรได้พัฒนาขึ้นมา
และต่างพากันเรียกการศึกษาแบบนี้ด้วยความภูมิใจว่าการศึกษาแบบ "ครอบจักรวาล"

ฟังเรื่องนี้แล้วเราอาจจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่น่าขบขัน แต่นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับการศึกษาของพวกเรา เราพยายามอย่างยิ่งยวด
ที่จะทำให้คนทุกคนเหมือนกัน เราได้ทำลายศักยภาพที่ซ่อนอยู่ภายในคนแต่ละคน เราบั่นทอนความเป็นตัวของตัวเองในคน
แต่ละคนจนหมดสิ้น

เชาวน์ปัญญาที่ติดตัวมาเริ่มตายไปในขณะที่เราพยายามจะลอกเลียนคนอื่น หากท่านต้องการจะให้เชาวน์ปัญญาที่มีมาคงอยู่
ท่านต้องเลิกการเลียนแบบ เชาวน์ปัญญาจะถูกกำจัดไปโดยปริยายหากท่านทำตามผู้อื่น
เมื่อใดก็ตามที่ท่านเริ่มคิดจะเป็นเหมือนคนอื่น ท่านจะสูญเสียเชาวน์ปัญญาทีท่านมีอยู่ไป
ท่านเริ่มจะโง่เขลานับตั้งแต่วินาทีที่ท่านเริ่มเปรียบเทียบตัวท่านกับคนอื่น
ท่านจะสูญเสียความสามารถตามธรรมชาติของท่าน ท่านจะไม่มีความสุขอีกต่อไป 
ท่านจะไม่ได้สัมผัสกับความใสสะอาด ท่านจะสูญเสียความคมชัด เสียวิสัยทัศน์ของท่านไป

ท่านจะต้องหยิบยืมดวงตาของผู้อื่นมาใช้ แล้วเราจะมองผ่านดวงตาของคนอื่นได้อย่างไร? เราต้องใช้ดวงตาของเราเอง
เราต้องเดินด้วยลำแข้งของเราเอง เราต้องใช้หัวใจที่เป็นของเราเอง คนหลายคนมีชีวิตอยู่ได้โดยอาศัยของที่หยิบยืมมาจากผู้อื่น
คนเหล่านี้จะรู้สึกว่าชีวิตของเขาติดขัดเป็นอัมพาต มันทำให้พวกเขารู้สึกว่าโง่เง่าเบาปัญญา

โลกเราต้องการการศึกษาในรูปแบบใหม่ คนที่เกิดมาเป็นกวี จะรู้สึกว่าตัวเองนั้นโง่มากในวิชาคณิตศาสตร์
ส่วนคนที่อัจฉริยะในทางคณิตศาสตร์ก็ต้องมามะงุมมะงาหราอยู่กับการท่องวิชาประวัติศาสตร์
ทุกสิ่งทุกอย่างมันกลับหัวกลับหางค่อนข้างยุ่งเหยิง เป็นเพราะว่าการศึกษาไม่ได้เป็นไปตามธรรมชาติของคนแต่ละคน
ไม่ได้ให้ความเคารพในสิ่งที่คนแต่ละคนมี ควบคุมบังคับให้ทุกคนเป็นไปตามรูปแบบที่กำหนด อาจจะมีคนบางคนที่เดิน
ไปกับรูปแบบนี้ได้ แต่ก็มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น คนส่วนใหญ่จะรู้สึกเหมือนหลงทาง และลำบากใจ

ความทุกข์ที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตคือความรู้สึกที่ว่าตัวเองโง่ ไม่มีค่า ไม่มีเชาวน์ปัญญา เราต้องอย่าลืมว่าทุกคนเกิดมาพร้อมกับ
เชาวน์ปัญญา เราเกิดมาพร้อมกับความงดงามนี้ มันเป็นสิ่งที่หอมหวานที่ติดตามเรามาจากดินแดนอันไกลโพ้น
แต่ครั้นเมื่อมาถึงโลกนี้ สังคมก็เริ่มโจมตีเรา เข้ามาจัดแจง เปลี่ยนแปลง สั่งสอน ตัดต่อ เติมแต่ง
...จนในที่สุดเราก็สูญเสียสิ่งเดิมที่มีติดมาจนไม่เหลืออะไรเลย นั่นคือวิถีทางที่ทำให้เชาวน์ปัญญาของเราถูกทำลาย

จากหนังสือ "ปัญญาญาณ" ของ OSHO แปลโดย ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด สำนักพิมพ์ Free MIND


@.................................@ 

เพื่อนๆอ่านแล้วมีความคิดเห็นประการใดคะ มันเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ถ้าลูกๆเรายังต้องอยู่ในระบบโรงเรียน ที่เป็นเหมือนโรงงาน
มุ่งผลิตเด็กที่เหมือนๆกันออกมาโดยไม่ได้บ่มเพาะหรือกระตุ้นความเป็นเลิศของเด็กแต่ละคนให้ฉายแวว  
มันก็ทั้งจากนโยบายการศึกษาแห่งชาติและกระแสสังคมน่ะนะ  ส่วนใหญ่ก็จำต้องไหลตามกระแสเราเป็นพ่อแม่ตัวเล็กๆจะทำอะไรได้...

บางครอบครัวที่พอจะมีโอกาสและกล้าตัดสินใจก็ทำ home school ให้ลูกได้เรียนอย่างที่ถนัด บางครอบครัวหันไปโรงเรียนทางเลือก
ที่เน้นความสุขและเสริมพัฒนาการค้นหาแววถนัดของเด็กแต่ละคน แต่เชื่อว่าความหวังลึกๆในใจพ่อแม่ทุกคนคือลูกเรียนเก่ง
เก่งไว้ก่อนปลอดภัยกว่า..มีทางเลือกมากกว่า ประมาณนั้น 

แหมกำลังสนุกเลย เดี๋ยวมาต่อนะคะงานเข้าซะละ 

โหวตให้คะแนนบทความนี้
คำค้นหา: ไม่ระบุคำค้นหา
แม่น้องกานต์ (77 คะแนนที่ได้รับ)
แม่น้องกานต์ ยังไม่ได้ตั้งค่าประวัติส่วนตัว
เหรียญรางวัล:

ความคิดเห็น

amijung
amijung
amijung ยังไม่ได้ตั้งค่าประวัติส่วนตัว
สมาชิกยังไม่ได้ออนไลน์
amijung พฤหัสบดี, 14 มิถุนายน 2012

อยากรู้ต่อแล้วล่ะค่ะพี่อ้อย เห็นจะจริงในเรื่องของการจัดทำหลักสูตร ในความคิดเห็นของตัวเอง เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าคนที่ร่างหลักสูตรมีความสามารถวิเคราะห์ว่าเด็กควรพัฒนาไปในทางใดและการหลักสูตรเหมาะสมกับเด็กแค่ไหนคำจำกัดความของ เด็กที่เก่งหมายถึงอะไรกันแน่ เคยได้มีโอกาสเปิดดูข้อสอบเด็กประถมที่ออกโดย. ข้อสอบในระดับประถมถามเกี่ยวกับระบบการไหลเวียนเลือดผ่านหัวใจและปอดถามว่าจุดไหนในหัวใจหรือปอดที่มีออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซต์มากที่สุด ซึ่งมีการวาดเป็นภาพแผนผังระบบการไหลเวียนของเลือดผ่านหัวใจกับปอด โอ้โห นี่ข้อสอบเด็กประถมเหรอเนี่ย ทำไมต้องรู้ลึกขนาดนั้น นี่เป็นข้อสอบพยาบาลเลยนะสมัยที่ยังเรียนอยู่ปี 1 ไม่เข้าใจว่าเด็กประถมรู้แล้วจะเอาไปทำอะไรได้ เราอัดความรู้เกินตัวเกินไปหรือเปล่า ดิฉันว่าผู้ปกครองก็คงจะมีข้อสงสัยมากมายเกี่ยวกับระบบและทิศทางการศึกษาของบ้านเรา แต่จะหาใครออกมารับผิดชอบหรือตอบคำถามเราตรงๆ ก็คงจะไม่มีล่ะมั้งค่ะ สุดท้ายเราก็คงจะต้องฝึกลูกให้เป็นปลาไหล(ตามบทความข้างบน). ให้แกร่งทุกสภาพอากาศและทุกสิ่งแวดล้อม แล้วแต่ว่าท่านผู้กำหนดหลักสูตรจะมีความคิดไปในทางใดจะเอาไปทดสอบอย่างไรก็ไหลไปได้เรื่อยๆ อย่างนั้นซะล่ะมั้ง
ตอนนี้ก็อดเป็นกังวลเรื่องแทบเล็ตที่จะแจกเด็กป.1 ไม่ได้เลยเพราะทุกอย่างเปรียบเสมือนเหรียญสองด้าน ความไม่มั่นใจเกิดขึ้นทันทีว่า เหตุการณ์ภายภาคหน้าจะเป็นอย่างไร เหมือนเด็กป.1 กำลังอยู่ในการทดลอง(หนู). มีแทบเล็ตเข้ามาเป็นตัวแปร (อาหาร เปรียบเสมือนอาหารสมองของเด็ก)ด้วยข้อสันนิษฐานว่าน่าจะเกิดประโยชน์ เด็กน่าจะเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายมีความรู้มากขึ้นขยายโอกาสทางการศึกษา แต่
การทดลองนี้ไม่สมบูรณ์หรอกค่ะ เพราะยังมีปัจจัยอีกตั้งมากมาย ทั้งความพร้อมของเด็กป.1 และผู้ปกครอง ของทางโรงเรียน. เด็กที่อยู่ห่างไกลจากในเมือง สภาพความเป็นอยู่ที่ยังลำบาก เค้าจะได้ใช้ประโยชน์จากแท็บเล็ตได้มากน้อยแค่ไหน. มันอาจจะดีแค่สำหรับเด็กกลุ่มหนึ่งที่มีความพร้อมเป็นทุนเดิมอยู่แล้วคือมีผู้ปกครองดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด สอนการใช้ ควบคุมดูแลเอาใจใส่ จำกัดการใช้อย่างเหมาะสมอยู่แล้ว. แต่สำหรับเด็กที่ี่พ่อแม่ก็ไม่มีเวลาให้ ความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีก็ไม่มี การเอาตัวรอดให้ผ่านไปในวันหนึ่งๆยังต้องคิดวันต่อวัน ดิฉันยังไม่รู้ว่าเจ้าแท็บเล็ตยังจะเป็นผู้ช่วยได้ดีหรือไม่ ดิฉันยังอดสงสัยไม่ได้ ถ้าหากว่าเด็กทำแท็บเล็ตเสีย หรือสูญหายจะด้วยประการอะไรก็ตาม เด็กจะมีความผิดไหมหนอ. แล้วรัฐบาลมีแนวทางแก้ไขหรือจัดการอย่างไร เผลอๆ บางทีเราอาจจะเห็นแท็บเล็ตไปอยู่ในโรงรับจำนำก็อาจจะเป็นได้ แล้วเราจะทำอย่างไรค่ะ(ถ้าพ่อแม่เด็กไม่เห็นความสำคัญของแท็บเล็ตมากกว่าสภาพปากท้องของตัวเอง )โอ้โหไม่อยากคิดถึงว่าจะมีอะไรตามมาอีก เหมือนกับ

amijung
amijung
amijung ยังไม่ได้ตั้งค่าประวัติส่วนตัว
สมาชิกยังไม่ได้ออนไลน์
amijung พฤหัสบดี, 14 มิถุนายน 2012

ว่าเราจะกังวลเกินไปหรือเปล่า กำลังคิดถึงเด็กที่เคยเรียนด้วยการอ่านหนังสือ แล้วเปลี่ยนมาเป็นการเรียนรู้จากเครื่องมืออันใหม่คิดว่าอีกหน่อยเด็กไทยคงจะไม่รู้จักสารบัญ การเปิดหนังสือหาเรื่องที่ต้องการ หรือแม้แต่ไม่ได้รู้ด้วยซ้ำว่าใครเป็นผู้แต่งเรื่อง เพราะไม่จำเป็นต้องเปิดดูหรือรู้จักผู้แต่งมากมาย ไม่ต้องมีคำนำหรือคำนิยมใดๆ สนใจในเนื้อหาที่ต้องการเท่านั้นก็พอ การเรียนรู้มันก็คงจะฉาบฉวยไปกันใหญ่ สุดท้ายเราก็คงได้แต่หวังว่ามันจะมีข้อดีมากกว่าข้อเสียสำหรับเด็กตัวน้อยๆ ป.1 ที่ได้ก้าวเข้ามาสู่รั้วการศึกษาในระบบของไทยเรายินดีต้อนรับเด็กใหม่ (เด็ก ๆกับผู้ปกครอง ของเด็กป. 1 )ทุกคนที่เข้ามาร่วมวังวนของระบบการศึกษาไทยเราค่ะ อย่างไรก็ตามสู้ ๆ เพื่อลูกของเรา. เด็กไทยของเราต่อไปนะค่ะเพราะเค้าก็จะกำลังเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้าค่ะ

แม่น้องกานต์
แม่น้องกานต์
แม่น้องกานต์ ยังไม่ได้ตั้งค่าประวัติส่วนตัว
สมาชิกยังไม่ได้ออนไลน์
แม่น้องกานต์ ศุกร์, 15 มิถุนายน 2012

อนุบาล 2 แนว
เด็กอนุบาลที่เรียนรู้อย่างมีความสุขในหลักสูตรแนวบูรณาการ แนวเตรียมความพร้อมที่มุ่งพัฒนาทักษะรอบด้านแบบมอนเตสเซอรี่หรือวอล์ดอร็ฟก็ตามกลับต้องเจอความทุกข์เมื่อเข้าเรียน ป.1 โดยเฉพาะถ้าเข้าเรียนในรร.แนววิชาการเข้มข้นหรือคาทอลิค ถ้าโชคดีรร.เดิมมีสอนชั้นประถมต่อก็ไม่มีปัญหาเด็กจะได้รับการพัฒนาไปในแนวทางนั้นต่อไป
ในขณะที่เด็กอนุบาลที่เรียนในรร.แนววิชาการมา จะอ่านออกเขียนได้ตั้งแต่ อ.3 และไม่ลำบากนักในตอนป.1
ก็เพราะชินซะละกับความเข้มงวด แต่มีความสุขหรือไม่??ไม่ทราบได้เหมือนกัน

ชีวิตเด็กประถม
ที่จริงหลักสูตรประถมศึกษา ที่อยู่ในกรอบมาตรฐานและตัวชีวัดตามนโยบายแห่งชาติก็ไม่ได้ยากเกินความสามารถของเด็กไม่ว่าจะเรียนอนุบาลมาในแนวไหนก็ตาม แต่ที่มันยากขึ้นมากเพราะแต่ละโรงเรียนต้องการสร้าง
ชื่อเสียง ต้องการคุณภาพที่เหนือกว่าโดยเฉพาะโรงเรียนประถมเอกชนชื่อดัง และ รร.คาทอลิคที่ต้องใช้ชุดข้อสอบ
ของเครือโรงเรียนซึ่งคุณครูเองก็ยอมรับว่าข้อสอบยากค่ะ นักเรียนรร.เหล่านี้เป็นเด็กเรียนดีคุณภาพวิชาการแน่นปึ๊ก
อย่างไม่ต้องสงสัย เมื่อรร.มีมาตรฐานสูงถ้าบังเอิญลูกเราเป็นเด็กปานกลางก็ต้องเหนื่อยเพิ่มขึ้นเพื่อเกาะกลุ่มให้ทัน
และถ้ายิ่งลูกเรามีความถนัดเฉพาะด้านเข้าทำนอง "ปลาต้องเรียนปีนต้นไม้" แบบในนิทานละก็...กลุ้มมิใช่น้อย

แน่นอนพวกเราอยากให้ ลูกมีความสุขในการเรียน ในขณะเดียวกันผลการเรียนก็ควรจะดีในระดับที่รับได้ด้วยนะ...อิอิ
เนี่ยล่ะน้าพ่อแม่ :):)

ลองวัดตัวเองดูว่าคุณเป็นพ่อแม่ที่แนว...หรือตามกระแส พวกเราอยากเห็นเกรด 4 หลายๆตัวในสมุดพกของลูก
หรือจะรับได้กับ เกรด 4 เพียง 1-2 วิชาในด้านที่ลูกชอบจริงๆเป็นเลิศจริงๆ แต่จะเอายังไงดีกับค่าเฉลี่ย 1-2
ที่อาจจะไม่พอสำหรับการเรียนต่อล่ะ หรือโรงเรียนจะว่าอย่างๆไรถ้าสมมุติลูกเราชนะเลิศได้เป็นตัวแทนเยาวชนประเทศไทยไปแข่งขันเปียโนระดับโลก แต่เรียนห่วยม๊าก

ในทางกลับกันประเทศเราจะสร้างเยาวชนที่เป็นเลิศในด้านต่างๆขึ้นมาได้อย่างไร ถ้าเด็กๆยังต้องเรียนวันละ 7 ชม.
กลับบ้านพร้อมการบ้านเป็นตั้งและออกไปเรียนพิเศษเสาร์-อาทิตย์

ก็งูกินหาง วนมาที่นโยบายด้านการศึกษาของชาติ ที่วัดเด็กจากคะแนนสอบรวมนั้นเอง...จำต้องรักษาตัวรอด
เป็นปลาไหลกันต่อไป ใครหาเวลาหรือมีโอกาสพัฒนาความสามารถพิเศษของลูกขึ้นมาได้ก็ถือว่าโชคดีไป
โอม..ขอให้ฟ้าส่งเจ้ากระทรวงที่ตั้งใจปฏิรูปการศึกษามาสักทีเถิด

ความฝันมัธยม
จบป.6 หรือ จบม.3 แล้วลูกจะเรียนต่อที่ไหนดี? เพราะมัธยมมีผลโดยตรงต่อการเลือกเรียนต่อในมหาวิทยาลัย
เข็มทิศชีวิตลูกจะชี้ไปในทางไหน การเรียนดีวิชาการปึ๊กทำให้อุ่นใจได้มากในโอกาสการเลือกที่ดีกว่า แต่เด็กเรียนเก่งเพียงอย่างเดียวไม่ใช่เครื่องรับประกันความสำเร็จในชีวิต ทักษะอีกมากมายที่ลูกต้องมี ต้องฝึกฝนประสบการณ์ที่ต้องแสวงหา ความคิดความเท่าทันสารพัดที่ต้องรู้ เพื่อเป็นทุนในการแข่งขัน
ตอนนี้ลูกเรียนแบบสบายๆอยู่ ป.3 สาธิตเกษตร เราต้องเริ่มวางแผนทางเดินแล้ว เมื่อทราบข่าวเพื่อนผปค.รุ่นพี่
สาธิตจุฬา พาลูกออกไปเรียนที่อื่นแทนเพราะเห็นว่าโรงเรียนไม่ได้สอนอะไรลูกมากมายอย่างที่เขาคาดหวังไว้
ประโยคที่ทำให้เราต้องมาหยุดคิดก็คือ "...คุณแม่ก็ทราบว่ามันไม่ค่อยมีอะไร?" แต่ในความไม่มีอะไรนั้นมันอาจมีอะไร
ในอีกมุมมองหนึ่ง ในความต้องการของอีกคนหนึ่งก็เป็นได้

รร.สาธิตไม่ได้เน้นวิชาการเข้มข้น แต่รร.จะพยายามพัฒนาความสามารถด้านสังคม, ฝึกการคิดอย่างมีวิจารณญาณ,
การถ่ายทอดความคิดของตนออกมาเป็นชิ้นงาน ฯลฯ ควบคู่ไปกับการเรียนดังนั้นกิจกรรมจะค่อนข้างมาก ทั้งกิจกรรม
หลักและกิจกรรมเลือกตามความชอบของเด็กแต่ละคน ..ดังนั้นก็กำลังถามตัวเองอยู่ว่านี่มันใช่ทีเราต้องการไหม?

เพราะถ้าไม่ใช่เราก็มีเวลาอีก 3 ปีที่จะกวดขันวิชาการเสริมให้ลูกเพื่อไปต่อม.1 ในแนววิชาการ หรือ
(ฝัน)ว่าถ้าได้เหรียญทอง สสวท.ตอน ป.6 ก็จะได้บัตรผ่านประตูเข้าไปเรียนม.1 ที่สาธิตฯปทุมวัน จะดีไหม?

...คิดก่อนนะเดี๋ยวจะมาเล่าให้ฟัง...สงสัยต้องยืมมือคนอื่นมาก่ายหน้าผากเพราะ 2 มือคงไม่พอ :D

amijung
amijung
amijung ยังไม่ได้ตั้งค่าประวัติส่วนตัว
สมาชิกยังไม่ได้ออนไลน์
amijung ศุกร์, 15 มิถุนายน 2012

โดนใจมากๆเลยค่ะพี่อ้อย เพราะว่าตัวเองก็เจอมาเหมือนกัน แต่เป็นเพื่อนผู้ปกครองนะคะ ที่ี่ร.ร. อนุบาล.เน้นวิชาการ ผู้ปกครองบอกว่าไม่ชอบขนาดลูกเรียนแบบอีพี ทำไมพูดภาษาอังกฤษน้อย ที่นี่สอนภาษาอังกฤษไม่เก่งเลย ไม่เวิร์ค เอาลูกลาออกไปเข้าโรงเรียนอินเตอร์ขนาดเล็กใกล้ ๆกับโรงเรียนเดิม. (อันนี้ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าให้ลูกเรียนมาสองปีแล้ว เพิ่งจะคิดเปลี่ยน). ส่วนอีกเหตุการณ์หนึ่งเฮี้ยงพายูริไปว่ายน้ำที่สโมสรใกล้ๆบ้าน ก็ว่ายน้ำไปด้วยร้องเพลง ท่องสูตรคูณไปด้วย(ตอนที่ยูริเพิ่งขึ้นอนุบาล2). มีผู้ปกครองพ่อแม่คู่หนึ่งมาได้ยินเข้าบอกว่าเรียนที่ไหนค่ะนี่ บอกไปว่าอยู่ ร.ร. เจริญพงศ์ เค้าก็บอกว่า เคยได้ยินมาว่าเก่งวิชาการ สงสัยจะสอนดีนะค่ะ คุณแม่ก็บอกว่าน่าจะโอเคสำหรับลูก. ผู้ปกครองคู่นั้น เลยบอกว่าจะลองย้ายมาเรียนบ้าง เฮี้ยงเลยถามเค้าว่า ตอนนี้ลูกเรียนอยู่ที่ไหนค่ะ. เค้าตอบว่าเรียนอยู่ที่.... (เป็นโรงเรียนเดียวกับที่เพื่อนผปค. เราเพิ่งย้ายไปเข้าเนี่ยล่ะค่ะ). ที่นั่นไม่เน้นวิชาการ การบ้านก็น้อยมาก ไม่รู้ว่าลูกได้อะไรบ้างหรือเปล่า. ฟังจบแล้วก็ได้แต่แอบถอนหายใจจริงๆแล้ว. สุดท้ายเราก็ต้องตัดสินใจให้ดีก่อนว่าเป้าหมายที่เราจะสร้างทางเดินให้ลูกตัวเองมันประมาณไหน.การคิดให้ถี่ถ้วนเหมาะสมกับสภาพของครอบครัวเราเองต่างหากที่ดีที่สุด อยากได้แบบไหนก็ต้องไปแบบนั้นจะได้ไม่ต้องเหนื่อยคอยหาที่เรียนใหม่อยู่เรื่อยๆ เด็กๆก็คงจะงง และเหนื่อยกับการปรับตัวมิใช่น้อย
เอมิ

amijung
amijung
amijung ยังไม่ได้ตั้งค่าประวัติส่วนตัว
สมาชิกยังไม่ได้ออนไลน์
amijung ศุกร์, 15 มิถุนายน 2012

เอมิชอบเรียนแบบทำกิจกรรม วิชาการหนักๆแบบเจริญพงศ์ก็รับได้ไม่มีปัญหา แต่ถ้าให้เรียนแบบวิชาการเข้มเรียนพิเศษข้นแบบคาทอลิค เราทนเห็นลูกเรียนแบบนั้นไม่ได้ ชีวิตเค้ายังต้องการความสดใสเรียนรู้ได้ภายใต้การคิดนอกกรอบแต่ไม่เกินขอบเขต เราต้องการแค่ที่เรียนที่จะทำให้เค้ามีภูมิต้านทานกับสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกวัน เค้าเรียนวิชาการได้(อย่างน้อยก็ตามหลักสูตรที่ควรจะได้รับ ไม่น้อยไม่มาก การบ้านตอนนี้ก็ไม่น้อยนะคะเน้นเขียน. อธิบายวาดภาพ แสดงความคิดเห็นที่เป็นตัวตนของเค้าออกมาเป็นงานในการบ้าน). จนถึงทุกวันนี้ก็ยังยืนยันว่าการบ้านไม่ได้น้อยกว่าที่โรงเรียนอื่นเลย แต่คงจะเทียบกับคาทอลิคไม่ได้เพราะมันคนละแนวกันแบบว่าแข่งกันเรียนอย่างมาก ซึ่งต่างจากแนวสาธิตเกษตรพหุภาษา ที่ไม่เคยจัดห้องgift หรือห้องคิงส์ แต่เน้นว่าเราเป็นครอบครัวเดียวกันทั้งชั้นต้องรักและช่วยเหลือกัน สลับที่นั่งบ่อยมาก เด็กที่เก่งก็ได้นั่งใกล้กับเด็กที่ยังอ่อนอยู่บ้างแล้วช่วยเหลือ ช่วยกันสอน ช่วยกันบอก เพราะเด็กแต่ละคนเก่งกันคนละด้าน บางคนเก่งเลข แต่ศิลปะไม่ได้จริงๆ บางคนเก่งภาษาไทยมาก แต่ดนตรีเล่นไม่ได้ บางคนเก่งทั้งวิทย์คณิต แต่วิ่งเกือบท้ายสุด หรือยังไม่กล้ากระโดดน้ำลงสระเลยก็มี เพราะฉะนั้นสำหรับตัวเอง ไม่ค่อยได้ถือเอาเกรดมาบอกว่าใครเก่งกว่าใคร เพราะอย่างเอมิก็ไม่ได้เก่งมากอาศัยว่ามีความตั้งใจ สนใจ ใฝ่รู้ชอบทำกิจกรรม โดยไม่เหนื่อยไม่ท้อชอบลุย เลยเกรดดีขึ้นมาได้ ไม่ได้หวังว่าลูกจะต้องเป็นตัวแทนอะไรทั้งนั้นค่ะ เพราะถ้าทางวิชาการเค้าก็แค่พอไปได้ ไม่ได้โดดเด่นมาก เพราะเค้าก็ยังอายุแค่เนี่ย (7.8 ปี. อยู่ป. 3)มาเรียนกับกลุ่มเด็กโตได้แค่นี้ก็โอเคแล้ว แต่คิดว่าความสามารถที่มีอยู่ในตัวของเค้าเองจะเป็นเกราะป้องกันและทำให้เค้าเรียนรู้ที่จะจัดการกับปัญหาหรืออุปสรรคต่างๆนาๆ ที่เข้า
มากระทบในแต่ละช่วงชีวิตเท่านั้นก็พอ เรียนเก่งแต่ตกม้าตายเจอมาเยอะ สุดท้าย เอาแบบขี่ม้าสนุก ไม่โลดโผนมาก กระโดดข้ามสิ่งกีดขวางได้ ไม่ต้องเข้าเส้นชัยเป็นอันดับหนึ่ง ให้ไปถึงสักแค่ที่สามก็พอ. ฮะ ฮะ สุดท้ายปลอดภัย ไม่เจ็บตัว นี่เฮี้ยงหวังเกินไปไหมค่ะเนี่ย พี่อ้อยขา

กรุณา เข้าระบบ หากต้องการแสดงความคิดเห็นของคุณ