พิพิธภัณฑ์มด

พิมพ์

( 1 Vote )

พิพิธภัณฑ์มด

มดตัวน้อยตัวนิดแต่ให้ข้อคิดยิ่งใหญ่แก่มนุษย์ มดนั้นขยันมาก มีความสามัคคี และเสียสละยอมพลีชีพเพื่อปกป้องรังของตน เพื่อนๆรู้จักมดอะไรกันบ้าง? เชื่อไหมว่าในประเทศไทยเรามีมดประมาณ 800 ชนิดทีเดียว จากสายพันธุ์มดทั่วโลกที่คาดว่ามีมดมากถึง 8,800 ชนิด เรามาเรียนรู้ความมหัศจรรย์น่าทึ่งของมดกันเถอะ


พิพิธภัณฑ์มด


พิพิธภัณฑ์จัดแบ่งออกเป็น 4 ส่วนได้แก่

ส่วนที่ 1 มหัศจรรย์แห่งมด แสดงเรื่องราววิวัฒนาการ รูปร่าง สังคมของมด อาหารและการสื่อสาร ความมากมายและการแพร่กระจายของมด "ทำไมมดรู้ว่าน้ำตาลอยู่ตรงไหน ซ่อนอย่างไรก็หาเจอทุกที?" ต้องไปหาคำตอบกัน

ส่วนที่ 2 สายใยสัมพันธ์แห่งมด แสดงให้เห็นการเชื่อมโยงของมดกับวิถีชีวิตมนุษย์  มดกับระบบนิเวศ มดกับพืช และมดกับสัตว์อื่น ๆ แล้วคุณจะทึ่งว่ามดนั้นสำคัญและสัมพันธ์กับทุกสิ่งรอบตัวเรา

ส่วนที่ 3 คุณค่าอนันต์แห่งมด  เจ้ามดตัวเล็กไม่ได้สร้างแต่ความรำคาญแก่เรานะ แต่กลับมีประโยชน์มากมายกว่าที่คิด ในส่วนนี้จะแสดงประโยชน์ของมดเป็นทั้งแหล่งอาหาร และการท่องเที่ยว

ส่วนที่ 4 ชีวิตอัศจรรย์แห่งมด มดมีวิถีชีวิตที่น่าสนใจและให้ข้อคิดแก่มนุษย์ มดมีผู้นำเพียงตัวเดียว แต่ก็อยู่กันได้อย่างสงบสุข นิทรรศการในส่วนนี้เด็กๆจะตื่นเต้นมากเพราะได้แอบดูชีวิตมดของจริง อาจารย์ทำการเลี้ยงมดในกล่องกระจก แสดงถึงความสามัคคี ความขยัน เสียสละของมด

เป็นการจัดแสดงตัวอย่างมดสำหรับประชาชนทั่วไป จัดแสดงไว้ที่ห้องพิพิธภัณฑ์มด ตึกวินิจวนันดร โดยเป็นการจัดเชิงประยุกต์ภายใต้แนวความคิดใหม่ เช่น มดกับสิ่งแวดล้อม มดกับมนุษย์ การประยุกต์ใช้มดกับงานด้านต่างๆ เป็นต้น เพื่อแสดงให้กับคนทุกเพศ ทุกวัย มุ่งเน้นการนำไปใช้ประโยชน์มากกว่าการเก็บรวบรวมตัวอย่าง

ลักษณะตัวอย่างมด ที่นำมาจัด แสดง มีทั้งตัวอย่างมดเปียก ซึ่งเป็น ตัวอย่างมดแบบชั่วคราวมี ประมาณ 100,000 กว่าตัว และตัวอย่างมดแห้ง เป็นการเก็บตัวอย่างแบบถาวร และจัดใน รูปแบบมาตรฐานสากลของนักอนุกรมวิธาน มด โดยจะมีการบันทึกข้อมูลด้านต่างๆ ประกอบด้วย สถานที่ ประเทศ วันเดือนปี ชื่อผู้เก็บ ชื่อชนิดมด ชื่อผู้จำแนก ซึ่งใน พิพิธภัณฑ์มดมีตัวอย่างมดแห้งมากกว่า 20,000 ตัว

อาจารย์ผู้ริเริ่มและดูแลคือ อ.เดชา วิวัฒน์วิทยา

พิพิธภัณฑ์มด

พิพิธภัณฑ์มด

อ.เดชา ให้สัมภาษณ์ไว้กับรายการสุรนันทน์วันนี้ ปี2552  “มดจะไม่เหมือนกับพวกผึ้ง พวกปลวกนิดหนึ่งคือเขามีแต่ราชินี พ่อตายหลังจากผสมพันธุ์แล้ว ส่วนเรื่องการแบ่งงานกันทำถูกกำหนดโดยสารที่เรียกว่า ฟีโลโมน โดยแม่ซึ่งเป็นตัวควบคุมวรรณะ จะมีวรรณะสืบพันธุ์ ได้แก่พวกตัวผู้ที่มีปีก ตัวเมียมีปีก อีกกลุ่มหนึ่งคือมดงาน ซึ่งมดงานบางชนิดก็มีหลายๆขนาด การทำงานของมดคือมดตัวเต็มวัยสีจะซีดๆ เรียกว่ามดนางพยาบาลจะดูแลไข่ ดูแลราชินี ดูแลตัวอ่อน แล้วพออายุมากขึ้นก็ค่อยๆออกมานอกรังซ่อมแซมรัง พออายุมากขึ้นอีกค่อยออกไปหาอาหาร จริงๆมดมีจริยธรรมนะ ในเรื่องของการทำงาน ความซื่อสัตย์ ความสามัคคี ซึ่งจริงๆแล้วเกิดจากการเรียนรู้ทั้งนั้น อย่างผมก็ชอบมาสอนเด็กเล็กๆว่า คนเป็นสัตว์ประเสริฐที่สุด รู้ดีที่สุด คิดเป็น ส่วนมดคิดไม่เป็นแต่เขารักษาสิ่งดีๆไว้”

ที่ตั้ง : ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (บางเขน)   ตึกวินิจวนันดร ชั้น 2

การเข้าชม  : เข้าชมชมฟรี ระหว่างวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 09.00- 16.00 น. สำหรับวันหยุดต้องติดต่อเป็น กรณีพิเศษ โดยทุกครั้งที่มีการเยี่ยมชมจะมี ผู้บรรยายตลอดการเข้าชม สนใจสอบถาม

รายละเอียดเพิ่มเติม หรือติดต่อขอเข้าชมได้ที่ รศ.เดชา วิวัฒน์วิทยา คณะวนศาสตร์ หาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โทรศัพท์ 0-2579-0176 โทรสาร 0-2942-8107 E-mail address : ffordew@ku.ac.th

แผนที่พิพิธภัณฑ์มด