พิมพ์

( 16 Votes )

เล่าสู่กันฟัง... เส้นทางสู่สาธิตเกษตรของกานต์

ก่อนที่คุณจะปิดโอกาสลูกได้สอบเข้าโรงเรียนสาธิต อ่านเรื่องเล่านี้ก่อน แล้วคุณอาจมีกำลังใจ ความมุ่งมั่น แนวคิดที่จะ "สู้สักครั้ง" เรารวมข้อมูลการสอบสาธิต ตั้งแต่รายชื่อโรงเรียน เกณฑ์การรับสมัคร แนวข้อสอบ การเตรียมตัวของพ่อแม่ เตรียมตัวลูก ที่พ่อแม่สามารถติวเองได้ จากประสบการณ์จริงของกานต์ แล้วคุณจะรู้ว่า ครอบครัวธรรมดา ๆ ก็สามารถผลักดันลูกสอบเข้าโรงเรียนสาธิตได้ ขอเพียงแค่ทำให้ดีที่สุด

เตรียมตัวอย่างไร? ติวกันอย่างไร?

ถามและพูดคุยกันบ่อยทั้งเพื่อน ๆ คนรู้จัก จากเว็บ karn.tv และ fanpage เกี่ยวกับการเตรียมตัว ติวกานต์เข้าสาธิตเกษตรได้อย่างไร แม่น้องกานต์จึงได้รวบรวมประสบการณ์ ที่เราติวเองมาเขียนเล่าเรื่องราว โหดมันฮา จนถึงน้ำตาร่วง... ให้เพื่อน ๆ ที่จะพาลูกเข้าสนามประลองแห่งนี้ในปีต่อ ๆ ไปค่ะ เราใช้วิธีการแบบผสมผสาน ทั้งแบบฝึกหัด และกิจกรรม เพราะเชื่อว่า "การเรียนรู้ผ่านกิจกรรม ทำจริง รู้กระจ่าง เด็กจะเข้าใจได้นาน และนำไปใช้ได้ ไม่ว่าโจทย์จะออกมาผลิกแพลงไปอย่างไร"
เริ่มแรกเราไม่ได้วางแผนมาก่อนว่าจะต้องให้ลูกไปสอบโรงเรียนสาธิต เรียนใก้ลบ้านก็ดีแล้ว (เป็นพวกองุ่นเปรี้ยว อิอิ) เลยไม่เคยสนใจว่าโรงเรียนสาธิตคืออะไร? จนลูกเปิดเทอมอนุบาล 3 ด้วยความที่เราชอบ search นั่นนี่สารพัดเป็นประจำ จึงได้ไปอ่านข้อมูลเกี่ยวกับกระแสสอบเข้าเรียนแนวสาธิต เมื่ออ่านไปเหมือนเปิดโลกใหม่ เริ่มคล้อยตาม เริ่มเห็นข้อดีมากมาย เขาว่าเรียนแนวบูรณาการ เน้นการคิดวิเคราะห์ ไม่ใช่ท่องจำ อืมม์... อยากให้ลูกคิดเป็น สิ่งแวดล้อมดี อุปกรณ์การเรียนเพียบ อาจารย์เก่ง ก็ดีน่ะซิ เข้าได้ก็เรียนยาวถึง ม.6 หรืออาจได้โควต้า มหาวิทยาลัยอีก เพราะการให้ลูกไปสอบเข้า ม.1 นี่ก็โหดหินสุด ๆ ตกลงใจแล้วอยากให้ลูกลงสอบ รีบทำโปรเจคเสนอคุณพ่อทันที โน้มน้าวสุดฤทธิ์เพราะเรามีเวลาเตรียมตัว 1 ปี ซึ่งคงจะน้อยมากถ้าเทียบกับเด็ก ๆ ที่ ได้ติวมาแล้วตั้งแต่ อ.2  ที่สำคัญเราไม่คิดจะใช้วิธีส่งลูกไปติวกับครูและติวเตอร์ที่มีกันมากมาย มหกรรม search ระดมความรู้ของแม่ เพื่อติวลูกเข้าสู่รั้วโรงเรียนสาธิตจึงเริ่มขึ้น เมื่อการต่อสู้ของนักรบตัวน้อยเริ่มต้นขึ้น มันย่อมไม่จบลงง่าย ๆ เอาล่ะ! มาดูกันว่าเราทำและเจออะไรมาบ้างสำหรับการส่ง ด.ช.กานต์ เข้าสู่รั้วสาธิตเกษตร
เป็นความตั้งใจไว้ตั้งแต่ตอนน้องลูกสอบเข้า ป.1 โรงเรียนสาธิตเกษตรได้เมื่อปีการศึกษา 2552 ว่ายังไงก็จะขอเขียนเรื่องราวเส้นทางเดิน ของ ด.ช.กานต์ ที่เราประสบความสำเร็จได้ก็เพราะการร่วมใจกันของพ่อแม่และคนสำคัญที่สุดคือลูก (นักรบตัวน้อยของเรา) เราหาวิธีการสอนกันเองที่คิดว่าเหมาะสมกับการเรียนรู้ของลูก เติมความรู้แบบสะสมฝากธนาคาร มาตั้งแต่เล็ก ๆ สอนเค้าจากสิ่งรอบ ๆ ตัวได้ทุกที่ทุกเวลาโดยยึดหลักว่า ควรเรียนรู้อย่างเข้าใจจริง โดยการเล่นผ่านกิจกรรม ไม่ใช่เน้นจำตัวอย่างแบบฝึกหัดให้ได้มากที่สุด เพราะถ้าลูกเข้าใจหลักการเจอโจทย์พลิกแพลงยังไงก็ไม่จนมุมค่ะ
เราไม่ได้อวดอ้างว่า กระบวนการทั้งหมดนี้เป็นสูตรสำเร็จหรือตัวอย่างที่ถูกต้องทั้งหมด  เพราะเด็กแต่ละคนก็มีอุปนิสัยในการเรียนรู้และจดจำข้อมูลแตกต่างกัน ปัจจัยแวดล้อมในครอบครัวที่ต่างกัน เรามั่นใจว่าผู้ปกครองทุกคนมีความรู้เพียงพอที่จะสอนลูกได้อย่างแน่นอน แต่อาจมีเทคนิควิธีการสอนการอธิบายถ่ายทอดให้ลูกเข้าใจได้แตกต่างกัน จึงเพียงขอแบ่งปันวิธีที่เราใช้กับ ด.ช.กานต์เท่านั้นค่ะ

เส้นทางเดินของกานต์

เริ่มแรกที่ลูกจะเข้าเรียนชั้นอนุบาล เราตัดสินใจเลือก โรงเรียนใก้ลบ้านไว้ก่อนเพราะอยากให้ลูกปรับตัวง่ายที่สุด ลูกจะได้ไม่ต้องตื่นเช้ามาก ๆ กินอาหารในรถ และเดินทางไกลทั้งเช้า-เย็น แทนที่จะได้กลับมาวิ่งเล่นกับเพื่อน ๆ แถวบ้าน จึงเลือกโรงเรียนโสมาภา 2 เพราะ ออกจากบ้านไม่เกิน 10 นาทีก็ถึงแล้ว อีกทั้งที่นี่เปิดสอนถึงชั้น ป.6  ด้วยแล้ว เราจึงไม่เคยวางแผนล่วงหน้าว่าจะให้เขามาสอบโรงเรียนแนวสาธิต หรือประมาณองุ่นเปรี้ยวก็ไม่แน่ใจ เพราะรู้สึกอยู่ลึก ๆ ว่า โรงเรียนสาธิตดูช่างไฮโซเป็นโรงเรียนในฝันของคุณพ่อคุณแม่ อัตราส่วนแข่งขันที่สูงประมาณ 1:30-40 มันดูจะไกลเกินเอื้อมไปมากทีเดียว จึงเพียงประมาณไว้ว่า เมื่อเรียนจบชั้นป.6 ก็ไปสอบเข้า ม.1 ที่ โรงเรียนบดินทรเดชา 2 หรือโรงเรียนสตรีวิทยา 2 ที่อยู่ไม่ไกลบ้านอีกเช่นกัน เรียกว่า อะไรก็แล้วแต่ ขอดีและใกล้บ้านไว้ก่อน :)

จุดเปลี่ยน

วันนึงเมื่อ ด.ช.กานต์เปิดเทอม อ.3 ได้ไม่นาน  ด้วยความที่เราเองมีโอกาสได้ใช้อินเตอร์เน็ทเพื่อsearch ข้อมูลสารพัดสารพันอยู่เป็นประจำ วันหนึ่งโอกาสได้อ่านข้อมูลเกี่ยวกับกระแสการสอบเข้าโรงเรียนแนวสาธิต ที่เขาว่าฮิตฮ็อตติดอันดับต้น ๆ ในใจพ่อแม่ เห็นเค้าว่า เรียนแนวบูรณาการ เน้นการคิดวิเคราะห์ สิ่งแวดล้อมในโรงเรียนดี ครูอาจารย์มีความสามารถ ถ้าเข้าได้แล้วก็เรียนยาวไปจนถึงม.6 ได้ อันนี้เจ๋ง ลูกเราจะไม่ต้องเจอสนามสอบและสถานการณ์ที่โหดหินกว่าในการสอบแข่งขันเข้า ม.1 โอ..พระเจ้าจอร์จมันยอดมากกก... เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงมีกระแสการติวสอบ การเตรียมความพร้อมให้เด็กที่แสนจะเข้มข้นทุกปี  ถ้าจะติวกับคุณครูติวเตอร์ชื่อดังบางท่าน คุณอาจต้องเอาชื่อลูกไปจองคิวกันตั้งแต่ลูกเริ่มพูดได้กันทีเดียว การแข่งขันที่ดุเดือดไปด้วยเลือดและน้ำตา (เว่อร์ซะ...) สำหรับครอบครัวธรรมดา ๆ อย่างเรานับเป็นการลงทุนที่แสนแพงในการติว 2 ปี 4 เทอมเหยียบแสนบาท  ทั้งยังมีคำล่ำลือเรื่องผู้สนับสนุนโรงเรียน ผู้มีอุปการคุณกับโรงเรียนอีก ทั้งยังบุตรหลานบุคลากรที่มีโควต้าที่นั่งอยู่แล้วอีก การพาลูกเข้าสู่รั้วโรงเรียนสาธิต... เฮ้อ!! อะไรมันจะวิบากขนาดนั้น
ยิ่งอ่านก็ยิ่งมันส์ ชักจะอยากรู้มากขึ้นแล้วซิ จึงสืบค้นไปเรื่อย ๆ ในหลาย ๆ เว็บ จนเจอกระทู้ที่ผู้ปกครองถามเรื่อง “เกณฑ์อายุของเด็กที่จะสามารถสมัครสอบโรงเรียนในแนวสาธิต ต่าง ๆ ในปี 52”  อ่านแล้วลองเทียบกับลูกดู อ้าว! ลูกเราก็อายุเข้าเกณฑ์สอบนี่นา ยังสมัครได้นะเนี่ย เด็กทุกคนจะมีโอกาสลองสอบสนามนี้ได้เพียง 1 ครั้งเท่านั้น ในใจเริ่มประมวลผลชั่งน้ำหนักความรู้ความสามารถของลูก (แบบไม่มีอคติจากความรักลูก) พร้อมทั้งประเมินตัวเองในฐานะที่ต้องรับบทเป็นผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการแบบเต็ม ๆ หากตั้งธงว่าจะไปสอบแล้ว เราก็ต้องพร้อมใจที่จะทุ่มเทกันทั้งครอบครัว เพราะเราเหลือเวลาเตรียมตัวเพียง 1 ปี น้อยกว่าคนอื่น ๆ อีกหลายพันคน จากที่เราสังเกตลูก แอบเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่น ๆ บ้าง จากผลการเรียนและพฤติกรรมที่คุณครูประเมินลูกก็คิดว่าเราพอมีลุ้น 1 ต่อ 30-40 เอาน่ะครั้งหนึ่งในชีวิตลองสู้ดูสักตั้งนะลูกนะ อีกอย่างการเรียนในแนวของโรงเรียนสาธิต ที่เน้นการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม มากกว่าวิชาการเข้มข้นน่าจะเป็นคำตอบที่ตรงกับอุปนิสัยของลูก และแก้ปัญหาการไม่อยากไปโรงเรียนของลูกได้ด้วย ถ้าลูกอยากไปโรงเรียนเรียนก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการรักเรียนต่อไปในอนาคต  :D

เริ่มบทเจ๊ดัน

เมื่อคิดจะเบนเข็มมาทางนี้แม่น้องกานต์จึงต้องหาข้อมูลอย่างหนัก  ก็เพราะเราตั้งใจจะติวลูกเอง ด้วยความที่ไม่เคยสนใจมาก่อนเลยว่าแนวสาธิตเขาสอบวิชาอะไรกันบ้าง กับสนามใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศนี้เพื่อน ๆ นึกถึงเพลง “ลูกหิน”ของคาราบาว  ไปด้วยจะได้อารมณ์ม๊ากค่ะ พ่อแม่ไม่มีเงินทองขนาดนั้น อาวุธเดียวที่พ่อกับแม่จะให้ลูกได้ก่อนลงสนามก็คือความรู้ ที่เหลือก็แล้วแต่นะ ลูกนะ

หาข้อมูลโรงเรียนสาธิต

  1. โรงเรียนสาธิต เค้ามีที่ไหนกันบ้าง เมื่อออกนอกกะลามาได้ก็เพิ่งจะรู้ว่าโรงเรียนในกลุ่มสาธิตทั่วประเทศนั้นช่างมีมากมายเหลือเกิน มากถึง 59 โรงเรียนเลยทีเดียว มากกว่าที่เรา ๆ ท่าน ๆ รู้จักกันดี ว่ามีเพียง สาธิตจุฬาฯ, สาธิตเกษตรฯ, สาธิตประสานมิตร และ สาธิตรามฯ
  2. เกณฑ์อายุที่รับ แต่ละแห่ง แต่ละโรงเรียนมีเกณฑ์อายุรับสมัครเด็กที่แตกต่างกัน  ก็เพิ่งรู้อีกว่า โรงเรียนสาธิตประสานมิตร รับเด็กเล็ก ไม่ใช่ ป.1 อ้าวอายุเกินซะแล้วซิเรา... อดไป 1 แห่ง ดังนั้นดูเกณฑ์อายุให้ดีค่ะ
  3. วิชาที่ต้องใช้สอบ จากการหาข้อมูล ตลอดจนศึกษาตำราติวสอบต่าง ๆ ที่วางขายในท้องตลาดและแนวข้อสอบเก่า  จึงรู้ว่าในการสอบวัดผลมีเพียงแค่ 3 วิชา คือ คณิตศาสตร์, ภาษาไทย และเชาวน์ เพื่อน ๆ ที่คิดจะสอบ ให้ดูหนังสือกลุ่มนี้ไว้ค่ะ สำนักพิมพ์ต่าง ๆ มีให้เลือกซื้อมากมาย

รายชื่อโรงเรียนสาธิตใน กทม.

รายชื่อโรงเรียนสาธิต ในสังกัดมหาวิทยาลัยของรัฐทั่วประเทศ

นอกจากนี้ยังมีกลุ่ม รร.สาธิตในสังกัดหมาวิทยาลัยราชภัฏ และมหาวิทยาลัยเอกชนอีกด้วย ดูเพิ่มเติมได้จาก "วิกิพีเดีย" ค่ะ

• เกณฑ์อายุที่รับของแต่ละแห่ง

แต่ละโรงเรียนมีเกณฑ์อายุรับสมัครเด็กที่แตกต่างกัน ก็เพิ่งจะรู้อีกว่า รร.สาธิตประสานมิตร เค้ารับเด็กเล็กเข้าเรียนอ.3 ไม่ใช่ ป.1

อ้าวอายุเกินไปซะแล้วซิเรา..อดไป 1 แห่ง ดังนั้นดูเกณฑ์อายุให้ดีค่ะ


• วิชาที่ต้องใช้สอบ

จากการหาข้อมูล ตลอดจนศึกษาตำราติวสอบต่างๆที่วางขายในท้องตลาดและแนวข้อสอบเก่า จึงรู้ว่าในการสอบวัดผลของ
สาธิตเกษตร
มีเพียงแค่ 3 วิชา คือคณิตศาสตร์, ภาษาไทยและเชาวน์

ดังนั้นเพื่อนๆที่เพิ่งคิดจะสอบ ไม่ต้องกลัวค่ะเรายังมีเวลาเตรียมตัวได้ทัน...สู้ๆนะ ศึกษาข้อมูลจากหนังสือติวสอบของสำนักพิมพ์ต่างๆ

แล้วไปเลือกซื้อมาเลยค่ะ

เลือกโรงเรียนเป้าหมาย

เมื่อได้ข้อมูล โรงเรียนสาธิตทุกแห่งมาแล้วเราก็คัดกรองข้อมูลที่เป็นไปได้ และสรุปตัดสินใจเลือกสอบที่ โรงเรียนสาธิตเกษตร เพียงที่เดียวไม่วิ่งรอกสอบหลายที่ ด้วยเหตุผล คือ
  1. ระยะทาง โรงเรียนอื่นแม้ว่าแสนดี แต่หากสอบได้ เราก็คงลำบากมาก ๆ ในการไปรับ-ส่งลูก (ก็เรียนใก้ลบ้านซะเคยตัวทั้งแม่ทั้งลูกนี่นา  ;) )
  2. มีการเรียนการสอนต่อเนื่องไปจนถึง ม.6 หากเข้าได้ก็สบายไป 12 ปี
  3. โควต้ารับตรงเข้าเรียน คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ และคณะอื่นๆ หากลูกมีผลการเรียนที่ดีอย่างต่อเนื่องก็มีโอกาสได้รับพิจารณาคัดเลือกเข้าเรียนต่อได้ ที่แอบฝันไว้ก็คือภาควิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศ
  4. ความรักและคุ้นเคยในสถาบัน  อันนี้ส่วนตัวไปนิดนึงคือแม่น้องกานต์จบจากคณะสังคมศาสตร์ ซึ่งก็อยู่ใก้ล ๆ รั้ว โรงเรียนสาธิต เห็นมาจนชินจึงเพิ่มคะแนนบวกให้น้ำหนักโทษฐานที่คุ้นเคยอีกเล็กน้อย
  5. หากเลือกสอบ 2 แห่ง คือ เช้าไปสอบสาธิตเกษตร บ่ายไปสอบสาธิตจุฬา ตามที่มีเพื่อนผู้ปกครองรุ่นพี่ และหลาย ๆ ท่านเคยทำสำเร็จมาแล้ว เราก็เกรงว่าจะเหนื่อยและเครียดเกินไปสำหรับลูก

สร้างแรงจูงใจ จุดไฟให้ลูก

ที่สำคัญต้องพยายามให้ลูกมีความรู้สึกว่าอยากเรียนที่โรงเรียนนั้นเองก่อนค่ะ สร้างแรงขับจุดไฟให้เขาก่อน แล้วอธิบายให้ลูกเข้าใจว่าการแข่งขันสูงแค่ไหน แล้วลูกจะได้มีกำลังใจติวกับเรา ทุกอย่างก็เพื่อตัวลูกเอง จะได้เรียนใน โรงเรียนที่ใหญ่กว่า มีของเล่นมากกว่า เรียนอย่างสนุกสนานไม่ต้องทำการบ้านมาก และไม่ต้องไปสอบแข่งขันเพื่อเรียนต่อที่โหดกว่านี้หลายเท่าในชั้น ป.6 ที่ต้องเลื่อนชั้นไปเป็น ม.1

.... อ่านต่อ ตอนที่ 2/3


ตะลุยติวเข้ม... แต่ไม่เคร่งเครียด

เมื่อเราสามคนพ่อแม่ลูกตัดสินใจจะลงสอบดูสักครั้งในชีวิต  ก็คิดว่าต้องทำให้เต็มที่และดีที่สุดไปเลย หากเราทำเต็มที่แล้ว สอบไม่ได้ก็ไม่น่าเสียดาย และสัญญากันว่าจะไม่มาพูดทีหลังว่า.. รู้งี้อดทนติวกันอีกนิดน่าจะดี :( จะว่าไปแล้ว การติวที่เข้มข้นและจริงจังของเราเริ่มขึ้นหลังจากไปซื้อใบสมัครมาแล้วนี่เอง
เริ่มติวลูกเอง แม่น้องกานต์ได้อ่านกระทู้ของ คุณแม่สาธิต2550 ที่โพสต์ไว้ตั้งแต่ปี 2550 เว็บไหนก็จำไม่ได้ ซึ่งบอกรายชื่อหนังสือติวเข้าโรงเรียนสาธิตของทุก ๆ สำนักพิมพ์ไว้อย่างละเอียด กระทู้นี้ได้จุดประกายให้แม่น้องกานต์ตั้งใจว่าจะติวลูกเอง เพราะงก อิอิ เพราะเราดูแบบฝึกหัดในหนังสือเหล่านั้นแล้วรู้สึกว่า เฮ้! แบบนี้เราก็สอนได้นะ  เอามาเล่นกับลูกได้เลย บางส่วนมันอยู่ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว เป็นเรื่องพื้นฐานใก้ล ๆ ตัวนี่เอง จึงรู้สึกสนุก อยากสอนขึ้นมาทันที ประกอบกับมีเวลาและคิดว่าจะสะดวกกับลูกด้วยที่จะจัดตารางติวที่บ้านและยืดหยุ่นตามสถานการณ์และอารมณ์ของลูกได้ด้วย

นี่เป็นรายชื่อหนังสือติวที่ แม่สาธิต2550 ให้ไว้ในกระทู้

เล่ม 1 แบบทดสอบ เตรียมความพร้อม ปัญญา-เชาวน์ Qquiz vol. 1

เล่ม 2 แบบทดสอบ เตรียมความพร้อม ปัญญา-เชาวน์ Qquiz vol 2

เล่ม 3-6 แบบฝึกตาและมือให้สัมพันธ์กัน เล่ม 1-4 ของ อาจารย์ พูนสุข บุณย์สวัสดิ์ (บ้านของเล่น) และ ลักษณ์ยุทธ ตรีชัย

เล่มที่ 7 ติวลูกเตรียมสอบ คู่มือเตรียมสอบเข้า ป.1 โรงเรียนในเครือสาธิต เล่ม 1 ของ PASS

เล่มที่ 8 ติวลูกเตรียมสอบ คู่มือเตรียมสอบเข้า ป.1 โรงเรียนในเครือสาธิต เล่ม 2 ของ PASS

เล่มที่ 9 ติวลูกเตรียมสอบ คู่มือเตรียมสอบเข้า ป.1 โรงเรียนในเครือสาธิต เล่ม 3 ของ PASS

เล่มที่ 10-14 ของ ดอกหญ้าวิชาการ

เสริมทักษะพื้นฐานระดับอนุบาล เพื่อสอบเข้า ป.1 เล่ม 1-5 ของ อ. สุภัทรา ฤทธิบุตร

เล่มที่ 15-18 ของดอกหญ้าวิชาการ

เสิรมทักษะพื้นฐานระดับอนุบาล 3 เตรียมสอบเข้า ป.1 เล่ม 1-4 ของ อ. ทองทิพย์ วงศ์หลิว

เล่มที่ 19 เกี่ยวกับการฟัง

แบบฝึกทักษะ การอ่านจับใจความ ป.1 ของ The Book ผู้แต่ง อ. ทินรัตน์ จันทราทินันท์

เกี่ยวกับการฟัง จับใจความ เล่มนี้ ครูติวมีกันทุกคน

เล่มที่ 20 เชาวน์ไว แบบทดสอบเตรียมความพร้อม ของ ห้องเรียน

เล่มที่ 21-26 (6 เล่มนี้ต้องมี)

แบบฝึกทักษะเด็กปฐมวัย สำหรับเตรียมสอบเข้าชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เล่ม1-6 โดย วรมน สอนสมบุญ

จบการสึกษาสาขาการศึกษาปฐมวัย ครุศาสตรบัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 6 เล่มนี้ ครูที่ดังที่สุด 2 จ้าว

ใช้สอนเด็กช่วง Intensive ที่ผ่านมาค่ะ

เล่มที่ 27 เสริมไอคิว ของ ห้องเรียน

เล่มที่ 28 ฉลาดคิด ของห้องเรียน

เล่มท่ 29 สมองไว ของห้องเรียน

เล่มท่ 30 ทางแสนกล ของห้องเรียน

เล่มที่ 31 คำตรงกันข้าม ของ หนังสือสายน้ำ

เล่มที่ 32 เรียนรู้ลักษณนาม ของหนังสือสายน้ำ

เล่มที่ 33 เตรียมความพร้อม ความรู้ทั่วไป ของ ปิกัสโซ

เล่มที่ 34 เตรียมความพร้อม คณิตศาสตร์ ของ ปิกัสโซ

เล่มที่ 35 เตรียมความพร้อม เชาวน์ปัญญา ของ ปิกัสโซ

เล่มที่ 36 เตรียมความพร้อม ภาษาไทย ของ ปิกัสโซ

เล่มที่ 37 ลากเส้นก่อนเขียน ของปิกัสโซ

(ปัจจุบันไม่แน่ใจว่าหนังสือเหล่ายังมีครบหรือไม่ ปีนี้เห็นเพื่อนไปกว้านซื้อหนังสือมาติวลูกมีหนังสือใหม่ๆน่าสนใจอีกมากค่ะ)

เมื่อรู้รายชื่อหนังสือแล้วก็ไปตามล่าหาซื้อมาค่ะ ทั้งศูนย์หนังสือจุฬา, ร้านซีเอ็ด, ดอกหญ้า ฯลฯ เรียกว่าเจอร้านหนังสือที่ไหนเป็นต้องแวะเข้าไปดู แต่ก็ซื้อมาไม่ถึงครึ่งหรอกนะคะ เมื่อมีคู่มือแล้วก็เริ่มลงมือกันเลย วันธรรมดาก็สัก 1 ชั่วโมงก่อนนอน วันเสาร์อาทิตย์ก็ 4 ชั่วโมง เช้า 2 บ่าย 2 เพื่อนบางคนก็ว่าโอโหติววันละ 4 ชั่วโมงหนักจัง ที่จริงไม่หนักเท่าไรหรอกค่ะ ก็เราไม่ได้ถือไม้นั่งคุมให้ลูกนั่งทำแบบฝึกหัดตลอดเวลานี่นา แต่มีเทคนิค มีกิจกรรมแทรกตามแบบฝึกหัดด้วยเพื่อให้ลูกไม่เบื่อหน่าย บางครั้งก็เนียนจนเจ้าตัวเล็กไม่รู้ตัวว่ากำลังติวอยู่ซะด้วยซ้ำไป แม่น้องกานต์ จะใช้คำว่า เรามาเล่น....กันนะ เช่น  เรียนเรื่องภาพเงา, ภาพสะท้อนกระจก ก็เอากระจกมาส่องพิสูจน์กีย, ภาพพับครึ่ง ก็เอากระดาษมาตัดจริง ๆ เพื่อพิสูจน์ว่าภาพโจทย์จะได้คำตอบออกมาเป็นแบบใดถูกต้องเหมือนที่ลูกคิดไว้หรือไม่ พูดถึงเทคนิคการเรียนการสอน ก็คิดเอาเองว่านอกจากทำแบบผึกหัดในกระดาษแล้ว ควรให้ลูกได้ปฏิบัติจริงในทุก ๆ หัวข้อด้วย เพื่อให้รู้แบบเข้าใจถ่องแท้และหาเหตุผลได้ มิใช่การจำแบบฝึกหัดเอามากากบาท เลยให้ลูกได้สนุกจากอุปรณ์รอบ ๆ ตัว พูดง่าย ๆ คือ ไม่ต้องไปซื้อ ไปหานั่นเอง มาดูกันว่ามีอะไรบ้าง

อุปกรณ์ในการติวโจทย์เชาวน์

  1. ลูกเต๋า น้ำเต้า ปู ปลา ใช้สอนเรื่องอนุกรมลูกเต๋า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อสอบเชาวน์ เราเอาลูกเต๋ามากางออกให้เขา เห็นว่าด้านต่าง ๆ มีรูปอะไรบ้าง แล้วประกอบกลับเข้าไปใหม่ เมื่อโยนเต๋าออกหน้านี้แล้ว ด้านบนควรเป็นรูปใดเป็นต้น
  2. กระดุมและลูกปัดสีต่าง ๆ ใช้สอนอนุกรมแถวเดียว เราก็เรียงลูกปัด ตั้งโจทย์แล้วให้ลูกเรียงตามให้เหมือนก่อน หรือ ให้ร้อยใส่เอ็นฝึกกล้ามเนื้อก็ได้ เมื่อทำได้คล่องดีก็เพิ่มความยาก โดยเรียงแล้วเว้นว่าง xoexo…x…e, …o แบบนี้ค่ะ ผลัดกันตั้งโจทย์ ผลัดกันตอบสนุกดี เพราะตอนลูกตั้งโจทย์ลูกก็ต้องคิดผลสัมฤธิ์ของคำตอบก่อนได้คิด 2 ชั้นเลย เจ๋งปะ?
  3. อุปกรณ์ในห้องครัว สอนคณิตศาสตร์เรื่องชั่ง, ตวง, วัด, ปริมาตรความจุของภาชนะต่าง ๆ หน่วยช้อนชา ช้อนโต๊ะ กรัม มิลลิกรัม กิโลกรัม เป็นต้น ให้ลูกเล่นตวงน้ำสำหรับโจทย์ปริมาณ-ระดับน้ำในภาชนะต่างๆ ให้ลูกอ่านสูตรอาหารต่าง ๆ และจัดเตรียมส่วนผสม ลูกจะรู้จักหน่วยตวงและได้ลองปฏิบัติจริง ง่ายสุดก็เริ่มจาก “แพนเค้ก” ค่ะ อย่าลืมสอนความรู้รอบตัวให้ลูกได้รู้จักชื่อ-วิธีใช้อุปกรณ์ต่างๆในครัว ซึ่งมีโจทย์คำถามประเภทนี้มากมายในหนังสือติวเชาวน์ต่าง ๆ
  4. ร้านขายผัก ร้านขายขนมไทย วันนึงนั่งติวอยู่ปรากฏว่าลูกไม่รู้จักหัวปลี  OK! เราได้เวลาไปตลาดกันแล้วไปรู้จักผักต่างๆกันอันไหน หัวปลี, ถั่วพู, เผือก, มะเขือพวง, บวบ ให้ได้สัมผัส ตาดู มือจับ จมูกดม เพราะบางทีลูกรู้จักเมื่อมันอยู่ในจานอาหารแล้ว แต่ไม่รู้ว่าหน้าตาเป็นอย่างไร ตามธรรมชาตินั้นเด็ก ๆ ก็อาจไม่คุ้นเคย อ้อ! เตรียมพร้อมสำหรับคำถามประเภทอะไรต่างจากพวกด้วยค่ะ
  5. ไม้บล็อคลูกบาศก์ กล่องหลาย ๆ เหลี่ยม สำหรับเรียนเรื่องกล่อง นี่ก็หากล่องมาแกะนับด้านพิสูจน์กันเลย เพราะดูโจทย์ในแบบฝึกหัดแล้วมันงง ลูกไม่เข้าใจ พอฉีกกล่องจริง ๆ ให้ดูแล้วเทียบกับโจทย์ในแบบฝึกหัด ทีนี้กระจ่างเลยค่ะ
เราสอนลูกได้ตลอดเวลาจากสิ่งรอบๆตัว อย่ายอมแพ้ค่ะ ทนพูดปากเปียกปากแฉะพร่ำสอน พร่ำบอกทุกสิ่งที่เราทำในชีวิตประจำวันให้ลูกได้เรียนรู้ เพราะข้อสอบสาธิตส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของประสบการณ์ในเรื่องรอบ ๆ ตัวเรานี่เอง ติวไปติวมา ทั้งโหดทั้งฮาเหนื่อยกันไปทั้งคู่ โออ...นิจจา.. เด็กป.1 ต้องมีความรู้ในหัวมากกันขนาดนี้เลยหรือเนี่ย... คุณพ่อแอบบ่น แต่แม่จะไม่ยอมแพ้หรอกลูก จะต้องบิวท์อารมณ์ให้ลูกสนุกสนานที่จะติวต่อและมีไฟที่จะไปสอบอยู่เสมอ  ช่วงหลัง ๆ ลูกก็มีบ่นนะ  “ลูกเบื่อโจทย์อนุกรมแล้ว ไม่อยากทำแล้ว” น่าเห็นใจมากค่ะ เราเองทำโจทย์ประเภทรูปหมุน รูปพลิกพวกนี้เยอะ ๆ ยังปวดหัวเลยนะ ไม่เป็นไรเบื่อโจทย์ในแบบฝึกหัดก็มาเล่นอนุกรมจากของเล่นกระดุมแทนแล้วกัน

ทำตารางวัดผลการเรียนรู้

แม่น้องกานต์ใช้การประเมินผลจากการทำแบบฝึกหัดของลูกค่ะ โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ เพื่อกำหนดทิศทาง การเรียนการสอนให้รอบรู้ครบรอบด้าน คล้ายเป็น checklist ว่าเรื่องใดเป็นจุดอ่อนที่ต้องเน้นย้ำ ทำประเมินไว้ 3 ระดับ ก็ต้องพยายามพัฒนาลูกให้มีความพร้อมให้มากที่สุดค่ะ

ระดับ 1  เรื่องที่ชัวร์ผ่านได้ลูกเข้าใจดีแล้ว

ระดับ 2  เรื่องที่เข้าใจปานกลาง ยังมีผิดพลาดอยู่

ระดับ 3  อันนี้จุดอ่อนที่ต้องเน้นย้ำอธิบายเพิ่มเติม

เพื่อน ๆ ผู้ปกครองก็อาจจะทำให้ละเอียดกว่านี้ก็ได้นะคะ

ซื้อใบสมัคร

บอกแล้วว่าถ้าตั้งใจจะสอบ เราก็ขอตั้งใจเต็ม 100 ทุกขั้นตอน เพราะเราไม่รู้ว่าคะแนนจะเบียดกันมากแค่ไหน ถ้ามีเด็กได้คะแนนเท่าลูกเราเป๊ะ ๆ สัก 50 คน แล้วใครสมควรจะได้ที่นั่งนั้นไปล่ะ ดังนั้นสำ หรับครอบครัวเรา การแข่งขันเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ไปซื้อใบสมัครแล้วค่ะ... เว่อร์ไปอีกมั้ยเนี่ย :)
ถึงแม้จะเปิดขายหลายวันแต่แม่น้องกานต์ไปซื้อในวันแรกประมาณ 9 โมงเช้า เพราะอย่างน้อย อาจเป็นส่วนหนึ่งที่เราแสดงความตั้งใจมาสอบ ผู้คนไม่มากอย่างที่คาดไว้ แต่ใบสมัครก็ขายไปแล้วประมาณ 400 ใบ ก็ไม่ทราบว่ามี โรงเรียนติวเตอร์มาซื้อไปให้เด็กเป็นล็อตหรือเปล่านะ แต่คุณครูที่ขายใบสมัครก็ดูจะระมัดระวังในเรื่องนี้เพราะพยายามพูดกับคนที่ต้องการซื้อมากกว่า 2 ใบว่า ซื้อไปให้ใคร? ควรให้ ผู้ปกครองเด็กมาซื้อเองจะได้สอบถามครูเผื่อไม่เข้าใจวิธีกรอกเอกสาร อีกอย่างที่เคยได้ยินรุ่นพี่แนะนำมา คือ $$ถ้าเด็กได้นั่งสอบใกล้เพื่อนที่รู้จักก็มีโอกาสจะเสียสมาธิเพราะมัวเล่นกันนะคะ ที่จุดขายใบสมัครจะมีตัวอย่างการกรอกเอกสาร, สิ่งที่ควรเตรียมตัวในวันสอบ และกำหนดการต่าง ๆ แสดงไว้ให้ดู จดหรือถ่ายรูปเก็บมาไว้ดูประกอบนะค่ะ
เมื่อกลับมาเราอ่านเอกสารสมัครทุกใบหลายรอบจนเข้าใจก่อนลงมือกรอก บางเอกสารห้ามพับ, ห้ามตัดออกจากกันโปรดดูให้ดี ป้องกันการตกม้าตายด้วยเรื่องง่าย ๆ แต่ก็อย่าวิตกเกินไปนะ (บอกตัวเอง :)) กรอกใบสมัครและเอกสารทุกแผ่นแบบตั้งใจสุด ๆ อีกเช่นกัน ในเอกสารจะมีให้เด็กเซ็นต์ชื่อเอง 1 แห่งด้วยนะคะ ใครจะรู้ อาจชนะกันตรงใบสมัครก็ได้นี่นา 555 จัดเตรียมเอกสารประกอบที่จำเป็นและรูปถ่ายให้พร้อม  สำหรับรูปถ่าย เราคิดว่าเป็นส่วนประกอบที่สำคัญมาก (อีกแล้ว) ก็โหงวเฮ้งดีมีชัยไปกว่าครึ่งไง ถ้าลูกเราหน้าตาง่วงนอน ดูเครียด แววตาไม่สดใสคงไม่เหมาะ  ดังนั้นตอนถ่ายรูปก็กำกับกันสุดฤทธิ์ ปล่อยมุกฮาหลอกล่อลูก และขอเลือกรูปเองก่อนอัด (เว่อร์ทุกขั้นตอน)
รูปที่ใช้ต้องเป็นรูปเดียวกันทั้งหมดทุก ๆ เอกสาร ดังนั้นถ้ามีรูปไม่พอไปถ่ายใหม่เถอะค่ะ เพราะถ้าคุณครูไม่รับใบสมัครล่ะก็ Game over เลยนะคะ หากจะแก้ปัญหาโดยไปถ่ายรูปใหม่หน้ามหาวิทยาลัยก็คงวุ่ยวาย เพราะวันสมัครเค้าไม่ต้องเอาเด็กไปด้วยค่ะ แต่บางคนก็พาลูกมาวิ่งเล่นรอผู้ปกครองอยู่ที่สนาม

วันสมัคร

ก่อนถึงวันสมัคร เราตรวจเอกสารทั้งหมดอีก 2 รอบ เพราะพรุ่งนี้ต้องยื่นสมัครรอบเช้า อย่าลืมไปก่อนเวลา เพราะเรียกเข้ายื่นสมัครตามคิวค่ะ วันนี้ที่หอพระหน้าโรงเรียนจะเต็มไปด้วยดอกไม้ธูปเทียน และขนมต่าง ๆ แม่น้องกานต์ก็ไม่ได้เตรียมสิ่งใดมา จึงยกมือไห้วที่หอพระของโรงเรียนสาธิต และที่อนุสาวรีย์ท่านหลวงสุวรรณ ในมหาวิทยาลัยด้วย บอกท่านว่าว่า “เราเป็นศิษย์ที่รักสถาบันคนนึง เราอยากให้ลูกเรียนที่นี่เช่นกัน ถ้าน้องกานต์มีความรู้ มีบุญพอก็ขอให้ท่านรับเข้ามาเป็นศิษย์ด้วย” แอบใช้สัจจะอธิฐานนิดนึง แต่ในใจพ่อแม่และญาติ ๆ ก็แอบมั่นใจว่าจากความรู้ที่อยู่ในตัวลูกต้องทำข้อสอบได้แน่ ๆ ขอเพียงวันนั้นองค์ลง สมาธิมา โชคเข้าข้างเราบ้างเท่านั้นเอง

.... อ่านต่อ ตอนที่ 3/3


นักกีฬาลงสนาม

คืนก่อนสอบให้ลูกเข้านอนเร็ว และเตรียมทุกอย่างไว้ให้พร้อมเพื่อให้สะดวกที่สุดในตอนเช้า ทราบมาว่าปีก่อนอากาศร้อนมาก แม่เตรียมพัด, ขนม, น้ำและหนังสือการ์ตูนขายหัวเราะเล่มใหม่ไปด้วย “เผื่อรอนานลูกจะได้ยังอารมณ์ดีอยู่นะครับ” ส่วนบรรดาเครื่องเขียนใด ๆ ไม่ต้องนำไปค่ะ ครูแจกปากกาแดงให้ใช้ทำข้อสอบ ขอแนะนำว่า ควรฝึกลูกให้กากบาทให้เต็มช่องด้วยนะคะ
วันนี้ก็เตรียมใจมาแล้วว่าคงเป็นวันที่วุ่นวายมาก ๆ จึงขอให้คุณตาช่วยขับรถไปส่งเพื่อจะได้ไม่กังวลเรื่องที่จอดรถ สอบเสร็จเราก็จะกลับแท็กซี่กันเอง เมื่อไปถึงโรงเรียน โอ..พระเจ้าทำไมผู้คนมากมายเช่นนี้เนี่ย ถือโอกาสบอกลูกว่า “เห็นไหมมีเด็ก ๆ อยากเข้ามาเรียนที่นี่ตั้ง 4 พันกว่าคน ถ้าลูกอยากเรียนที่นี่ วันนี้จะต้องตั้งใจฟังคุณครูพูดให้ดีเลยนะครับ"
ฝ่าฝูงชนเดินหาเต้นท์หมายเลขห้องของเราเมื่อเจอแล้ว จอมซนก็ขอไปวิ่งเล่นในสนามก่อน (เด็กน้อย ตื่นเต้นเพราะไม่เคยเจอสนามฟุตบอลใหญ่ขนาดนี้)  เผลอแป็บเดียวยังไม่ทันถึงกำหนดเวลาที่จะพาเด็กขึ้นห้องสอบเลยครูพี่เลี้ยงก็มาที่เต็นท์และเริ่มขานชื่อเด็กแล้ว อ้าวกล้วยทอดซะแล้ว.. ลูกชั้นอยู่ไหนล่ะเนี่ย รีบไปตามหาเหงื่อซิกมาเลย ก็เข้าไปนั่งรอในเต้นท์นานมาก ทางโรงเรียนจัดเก้าอี้ไว้พอดีกับจำนวนเด็กที่สอบในห้องนั้น ๆ ผู้ปกครองก็พากันยืนมุงให้กำลังใจลูกหลานอยู่รอบ ๆ จึงบังลมทุกทิศทาง :( สงสารเด็ก ๆ ที่นั่งร้อนอยู่ข้างในจัง ต้องแยกกับลูกก่อนกำหนดอย่างนี้เลยไม่ทันได้เตือนสติ+เป่ากระหม่อมเล้ย...555 แม่แทรกตัวเข้าไปยื่นหนังสือขายหัวเราะให้ ลูกก็ยิ้มออกมาได้ และเข้าสู่ภวังค์ในโลกส่วนตัวของเขาไปลืมเรื่องร้อน เรื่องรอไปได้  ถึงเวลาขึ้นห้องเด็ก ๆ ก็ตั้งแถวเรียงตามเลขที่ ว่าแล้วลูกเราเป็นคนสุดท้ายของห้องจริง ๆ แล้วจะได้ยินครูอ่านข้อสอบไหมเนี่ย แล้วแต่วาสนาแล้วล่ะลูก เอาเถอะ.. เมื่อเราอยากเรียนที่นี่ อยากมาสมัครสอบเข้าโรงเรียนเขาแล้ว เราก็ต้องยอมรับกติกา วิธีการคัดเลือกและการตัดสินของโรงเรียน ส่วนอื่นที่อยู่เหนือการควบคุมของเราก็ปล่อยวางมันไปซะ
ส่งลูกขึ้นตึกแล้ว ผู้ปกครองก็มานั่งรอตามอัธยาศัย เจอรุ่นพี่และเพื่อนผู้ปกครองก็เลยได้นั่งคุยกันไปเรื่อย ๆ ผ่านไปสักชั่วโมงกว่า น่าจะเป็นเวลาพักดื่มนม มีเด็กผู้หญิงคนนึงวิ่งลงมาจากตึกสอบ ยืนเกาะเชือกร้องไห้ดังลั่นอยู่ริมสนาม (เขตกั้นด้วยเชือก ห้ามผู้ปกครองเข้า) ลูกใครหนอคุณพ่อคุณแม่ก็ไม่อยู่แถวนั้น เด็กยืนร้องอยู่สักพักคุณครูก็มาพากลับเข้าไปใต้ตึก รอจนได้เวลาเลิกสอบ ผู้ปกครองก็ต้องกลับไปนั่งรอที่เต้นท์หมายเลขห้องสอบของลูก เพื่อรอเรียกให้ไปรับเด็กทีละห้อง
พอเห็นหน้าลูก ดูเหมือนทุกครอบครัวจะถามเหมือนกันเลย เป็นไงลูก? ยากไหม? ทำได้ไหม? ครูถามอะไรบ้าง? พอเราแทรกตัวมาที่ว่าง ๆ ได้ก้มลงไปยังไม่ทันจะถาม ลูกเห็นหน้าเราก็รีบพูดซะก่อน “ลูกนั่งคนสุดท้ายแถวหลังห้อง ได้นั่งริมหน้าต่างด้วย” โอ..ลางร้ายมาแล้ว ได้ทำเลดีมากๆเลยลูก “ห้องอยู่สูงลูกดูวิวเพลินที่ต้นไม้มีกระรอกด้วยครับ ไม่ค่อยได้ฟังครูเลยมั่ว ๆ ไปหลายข้อ มองมาเห็นเต้นท์ด้วยนะ แต่ลูกไม่เห็นคุณแม่เลย ฯลฯ (อีกมากมาย)” เหรอลูก.... แม่หมดแรงพูดไม่ออกเลยจนเดินมาถึงหน้าโรงเรียน ก็หัวใจหล่นไปตั้งแต่หน้าตึกแล้ว อืม..เอาเถอะ ตอนนี้ลูกก็เล่นได้ตามสบายไม่ต้องติวอีกแล้ว  ส่วนแม่...เศร้า
กลับมาพักผ่อนให้หายเศร้า แล้วก็เริ่มตะล่อมถามว่าข้อสอบถามอะไรบ้าง ที่ติวไปมีอะไรออกมั้ย คำตอบส่วนใหญ่คือ ไม่มี ไม่มี ไม่มี และจำไม่ได้ เฮ้อ.. ข้อสอบไม่ออกแบบที่ติวมาเล้ย แล้วมันสอบอะไรกันบ้างล่ะเนี่ย หลังจากจับเข้าเครื่องทรมาน แม่ก็รีดคำถามในข้อสอบออกมาได้ 6 ข้อ ดังนี้ค่ะ
  1. มีบล็อคเรียงต่อกันอยู่จำนวนหนึ่ง ถามว่าถ้าต้องการทำให้เป็นบันได 3 ชั้น ต้องใช้บล็อคอีกกี่อัน?
  2. คน ๆ หนึ่งว่ายน้ำวันแรก 2 รอบ วันที่สอง 4 รอบ วันที่สาม 6 รอบ วันที่สี่ 8 รอบ ถามว่าวันที่ 5 จะว่ายได้กี่รอบ?
    และถ้าเริ่มว่ายวันแรกในวันอังคารวันที่ 5 จะตรงกับวันอะไร?
  3. ถ้านักเรียนมีเงิน 20 บาท จะซื้ออะไร? คำตอบมีรูปขนมและราคากำกับไว้
  4. มีเหยือกน้ำให้ 1 ใบ ถามว่าต้องใช้น้ำภาชนะในข้อไหนจึงจะรวมกันแล้วได้ปริมาณเท่ากับน้ำในเหยือก?
    (เรื่องเหยือกน้ำนี้มีหลายคำถาม แต่กานต์จำได้ข้อเดียว)
  5. มีรูปมือซ้าย-ขวา และผลไม้อยู่ระหว่างมือ ประมาณนี้  x c m e o   มีหลายคำถาม เช่น
    ผลไม้ชนิดใดอยู่ตรงกลาง? ผลไม้ชนิดใดอยู่รองจากผลไม้ชนิดแรก?
  6. ให้แผนที่ชุมชนมา ถามว่าถ้าต้องการเดินจากจุดหนึ่ง ไปยังอีกจุดหนึ่งต้องเดินผ่านถนนกี่สาย?
ข้อสอบสาธิตเกษตรนอกจากมีความรู้แล้ว เด็ก ๆ ต้องมีสมาธิ ในการฟังด้วย เพราะเด็ก ๆ ไม่เห็นโจทย์คำถาม เห็นแต่ตัวเลือกของแต่ละข้อในสมุดคำตอบให้กากบาท (มีสมุดคำตอบ 2 เล่ม ๆ ละ 30 ข้อ) โชคดีที่น้องกานต์อ่านหนังสือได้คล่อง (แม่น้องกานต์ ใช้วิธีอ่านหนังสือให้ลูกฟัง โดยชี้ไปอ่านไป เหมือนคาราโอเกะ ทำอย่างนี้มาตลอด เชื่อว่า ช่วยให้กานต์อ่านหนังสือได้คล่องตั้งแต่อยู่อนุบาล) จึงเลือกคำตอบได้แม่นยำขึ้น หากฟังครูอ่านโจทย์ไม่ทันบ้าง ก็ยังพอเดาจากกลุ่มคำตอบได้ แม่น้องกานต์สอนวิธีตัดตัวเลือกที่ไม่เข้าพวกให้ กรณีฉุกเฉินที่ไม่รู้คำตอบจริง ๆ จะได้เดาอย่างมีแนวทาง และมีการคิดวิเคราะห์ เช่น เล่านิทานก่อนนอนทุกคืน แล้วตั้งคำถามให้ลูกตอบ อยากสอนลูกเรื่องอะไรเราก็แต่งเรื่องขึ้นมาเองบ้างก็ได้ อ้อ! ควรฝึกลูกให้มีสมาธิ ไม่เขวไปกับ นก ผึ้ง กระรอก บ้างนะคะ เผื่อตอนสอบเจอพวกนี้จะได้ยังมีสมาธิในการฟังครูอ่านโจทย์

ประกาศผลสอบ สาธิตเกษตร ดช.กานต์วันชี้ชะตามาถึง

ญาติ ๆ ชวนกันไปเที่ยวหัวหิน กลับวันที่ประกาศผลสอบพอดี เราก็คิดว่าคงสอบไม่ติด โอกาสน้อยเหลือเกิน จึงไม่รีบร้อนอะไร เที่ยวเล่นตามสบาย ตั้งใจว่า กลับบ้านพักผ่อนก่อน ไว้ค่อยออกไปดูผลในวันพรุ่งนี้ก็ได้ ปรากฏว่ากลับถึงบ้านไม่เย็นนัก ก็เลยขับรถไปดูซะหน่อย ไปถึงโรงเรียนเกือบ 5 โมงเย็นแล้ว ด.ช.กานต์หลับอยู่ในรถโดยมีพ่อเป็นสารถี จึงเป็นหน้าที่แม่เป็นคนลงไปลุ้นที่บอร์ด ใจนึกว่า ชื่อลูก ก.ไก่ ด้วยถ้าติดก็ต้องเห็นได้ง่าย ๆ และถ้าไม่ติดก็รู้ผลเร็ว ตื่นเต้นด้วยนะ เห็นผู้ปกครองหลายคนอออยู่ในบริเวณบอร์ดกันพอสมควร โอ!! มีชื่อ ด.ช. กานต์ อยู่บนบอร์ดจริง ๆ แม่ดูจนแน่ใจอยู่นานว่านามสกุลไม่ผิดนะ ว่าแล้ว รีบกลับไปปลุกลูกมาดูชื่อตัวเองพร้อมกัน 3 คนพ่อแม่ลูกให้เต็มตาซะเลย
ความพยายามของเราเป็นผล สมกับที่ได้ทุ่มเทกันลูกทำได้จริง ๆ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ลูกได้เรียนที่นี่แล้วนะครับ :) :)

ส่งท้าย... เล่าเรื่องสอนลูกจากสิ่งรอบตัว

กานต์มีพื้นฐานด้านเชาวน์ และการคิดวิเคราะห์ดี ทำให้สอนง่าย เข้าใจสิ่งที่แม่สอนได้เร็ว ซึ่งน่าจะเป็นเพราะได้ฝึกฝนผ่านการเล่นเกมส์เหล่านี้มานานหลายปีด้วยค่ะ
  1. ป้ายทะเบียนรถ เล่นบวกเลขกันไประหว่างทางค่ะ จะบวกทีละตัวเช่น 1+2+5+9 =?  หรือ 12+59=? หรือเล่นหาคันที่บวกรวมได้ 20 เป็นต้น
  2. ลูกเต๋า ใช้สอนบวกเลข โดยใช้ลูกเต๋า 2 หรือ 3 ลูก ตามความสามารถที่เพิ่มขึ้นของเด็กค่ะ เกมส์นี้ผลัดกันโยนลูกเต๋าเพื่อตั้งโจทย์แล้วบวก แข่งกันกับพ่อแม่เค้าจะสนุกมาก
  3. ไพ่ ใช้สอนบวกเลข ได้หลากหลายกว่าลูกเต๋ามากแล้วแต่เราจะตั้งกติกาขึ้นมา ขอยกตัวอย่างเกมส์ที่เราเล่นกันนะคะ

- ใช้ไพ่ A-10 เท่านั้น เล่นเกมมากกว่าน้อยกว่า เบื้องต้นก็ผลัดกันเปิดคนละใบใครมากกว่าก็ชนะได้ไพ่ของคู่แข่งไป
พอเก่งขึ้นก็แจกคนละ 2 ใบแล้วให้เลือกใบที่ใหญ่สุดมาสู้กัน

- แจกไพ่จาก 1-2 ใบ เป็น 3, 4, 5 ใบ พัฒนาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ค่ะ เขาจะคิดเร็วขึ้นมองเห็นตัวเลขก็ตอบได้เลยถ้าน้อย ๆ ใบก็ไม่ต้องนับนิ้ว

- แจกไพ่ 4 ใบ ให้เลือก 2 ใบที่รวมกันได้ผลลัพธ์มากที่สุดบ้าง ผลลัพธ์ใกล้เคียงกับเลขที่เรากำหนดมากที่สุดบ้าง

  1. จิ๊กซอว์ บ้านเราชอบเล่นต่อจิ๊กซอว์มาก เริ่มตั้งแต่คุณยาย คุณน้า คุณแม่ และน้องกานต์ก็ช่วยต่อมาตั้งแต่เล็ก ๆ มีสะสมไว้หลายลัง วันหนึ่งเมื่อต้นปี 2552 ได้ดูรายการ “ครอบครัวเดียวกัน” ตอน เลี้ยงลูกให้ฉลาดผ่านของเล่น อาจารย์วิทยากรแนะนำให้เด็ก ๆ เล่นต่อจิ๊กซอว์ เพราะช่วยฝึกสมองและทักษะหลายส่วน เช่น การจำแนกความแตกต่าง การจัดกลุ่ม การวางแผน การสังเกต และสมาธิ
  2. เกมส์เศรษฐี อันนี้ฝึกเรื่องค่าของเงินธนบัตรต่าง ๆ การซื้อ การแลก การทอนเงิน และยังสอนให้เคารพกติกาในการเล่น รู้จักการรอคอยอีกด้วย
  3. หมากกระดาน ไว้ฝึกสมอง, สมาธิเด็ก ๆ ได้ดีค่ะ เขาต้องคิดวางแผนการเล่นการตัดสินใจเดินเพื่อเอาชนะคู่แข่ง ขณะเดียวกันก็สอนให้ยอมรับผลที่เกิดขึ้น ถ้าเดินหมากผิดพลาด  สอนให้คิดก่อนทำนั่นเองค่ะ เพราะถ้าเดินมั่วเจ๊งแน่นอน บางครั้งก็มีโวยค่ะ ขอเดินใหม่ ;D ;D น้องกานต์เล่น หมากฮอส, หมากข้าม,  หมากรุกไทย เป็นแล้วและตอนนี้อยากเล่นโกะมาก แต่ไม่มีใครในบ้านเล่นเป็นเลย
  4. หนังสือเกมส์ลับสมองสำหรับเด็ก เช่น หาทางออก โซโดกุ ปริศนาตัวเลข หนังสือเลข 100 ช่อง อันนี้ก็มาจากคุณยายอีกเช่นกัน ท่านชอบเล่นเกมส์เหล่านี้ในยามว่างจึงซื้อมาหลายเล่มเผื่อหลาน ๆ ก็ได้เรื่องความคิด การแก้ปัญหาและการวางแผน
  5. โบรชัวร์ แคตตาล็อคต่างๆที่มาเสียบประตูบ้าน อย่าทิ้งค่ะ ใช้ได้นะ มันมีรูปสินค้าและราคาอยู่ก็เอามาตัดเป็นชิ้น ๆ เล่นซื้อของกัน ได้ฝึกกล้ามเนื้อมือและหลอกให้ลูกเล่นเกมส์คิดเลขได้ด้วย
  6. คอมพิวเตอร์ ดาบสองคมที่หลายๆครอบครัวต่อต้าน แต่ในความเห็นของเรา คอมพิวเตอร์ช่วยให้ลูกฉลาดขึ้นได้มากจริง ๆ มีทักษะการสังเกตุ การเชื่อมโยงเหตุผล เลือกเกมส์ดี ๆ ที่ฝึกเชาวน์ และวิชาการค่ะ มีมากมายและจำกัดเวลาให้เหมาะสมกับวัย
นี่เป็นเพียงบทพิสูจน์หนึ่งว่า ครอบครัวธรรมดา ๆ อย่างเราก็สามารถผลักดันลูกสอบเข้าโรงเรียนสาธิตได้ ถ้าร่วมใจกันทั้งครอบครัว ดังนั้นอยากพูดว่า “คนที่ตั้งใจสอบแล้วอย่าท้อถอย ส่วนคนที่ไม่เคยคิดสอบควรจะเปิดโอกาสให้ลูกหรือไม่? เหมือนที่แม่น้องกานต์เกือบจะพลาดและทำให้ลูกเสียโอกาสไป ทุกคนมีสิทธิที่จะหวัง และมีโอกาสสำเร็จได้เช่นกันค่ะ”
ท่านอาจารย์ใหญ่พูดในวันประชุมผู้ปกครองว่า พวกเรามีบุญร่วมกันมาจึงได้มาอยู่ร่วมในรั้วเดียวกัน ดังนั้นเมื่อทำดีที่สุดแล้วก็ทำใจให้สบาย สอบได้หรือไม่ก็ยังมีหนทางดี ๆ ให้เลือกเดินอีกมากมาย เพราะที่เรียนเด็กเก่งนั้นล้วนมีครอบครัวเป็นแรงสนับสนุนที่สำคัญอยู่เบื้องหลังทั้งนั้น โรงเรียนดี ๆ เป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งที่ช่วยแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ ไม่ว่าลูกเรียนที่โรงเรียนไหนถ้ามีผู้ปกครองดูแลกวดขันเรื่องเรียนก็เก่งได้ทุกคนค่ะ
ป.ล. เรื่องเล่านี้เขียนเมื่อปี พ.ศ. 2553 ตอนที่กานต์อยู่ ป.2 โรงเรียนสาธิตเกษตร โพสต์ไว้ในเว็บบอร์ด ต่อมาต้องปิดเว็บบอร์ดเพราะมีโพสต์ที่ไม่เหมาะสมจำนวนมาก และได้นำกลับมาลงเป็นบทความเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ ขณะนี้ ปี พ.ศ. 2558 กานต์เรียนชั้น ม.1 ที่โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)