ป้ายโฆษณา



พิมพ์อีเมล

( 16 Votes )

ตะลุยติวเข้ม... แต่ไม่เคร่งเครียด

เมื่อเราสามคนพ่อแม่ลูกตัดสินใจจะลงสอบดูสักครั้งในชีวิต  ก็คิดว่าต้องทำให้เต็มที่และดีที่สุดไปเลย หากเราทำเต็มที่แล้ว สอบไม่ได้ก็ไม่น่าเสียดาย และสัญญากันว่าจะไม่มาพูดทีหลังว่า.. รู้งี้อดทนติวกันอีกนิดน่าจะดี :( จะว่าไปแล้ว การติวที่เข้มข้นและจริงจังของเราเริ่มขึ้นหลังจากไปซื้อใบสมัครมาแล้วนี่เอง
เริ่มติวลูกเอง แม่น้องกานต์ได้อ่านกระทู้ของ คุณแม่สาธิต2550 ที่โพสต์ไว้ตั้งแต่ปี 2550 เว็บไหนก็จำไม่ได้ ซึ่งบอกรายชื่อหนังสือติวเข้าโรงเรียนสาธิตของทุก ๆ สำนักพิมพ์ไว้อย่างละเอียด กระทู้นี้ได้จุดประกายให้แม่น้องกานต์ตั้งใจว่าจะติวลูกเอง เพราะงก อิอิ เพราะเราดูแบบฝึกหัดในหนังสือเหล่านั้นแล้วรู้สึกว่า เฮ้! แบบนี้เราก็สอนได้นะ  เอามาเล่นกับลูกได้เลย บางส่วนมันอยู่ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว เป็นเรื่องพื้นฐานใก้ล ๆ ตัวนี่เอง จึงรู้สึกสนุก อยากสอนขึ้นมาทันที ประกอบกับมีเวลาและคิดว่าจะสะดวกกับลูกด้วยที่จะจัดตารางติวที่บ้านและยืดหยุ่นตามสถานการณ์และอารมณ์ของลูกได้ด้วย

นี่เป็นรายชื่อหนังสือติวที่ แม่สาธิต2550 ให้ไว้ในกระทู้

เล่ม 1 แบบทดสอบ เตรียมความพร้อม ปัญญา-เชาวน์ Qquiz vol. 1

เล่ม 2 แบบทดสอบ เตรียมความพร้อม ปัญญา-เชาวน์ Qquiz vol 2

เล่ม 3-6 แบบฝึกตาและมือให้สัมพันธ์กัน เล่ม 1-4 ของ อาจารย์ พูนสุข บุณย์สวัสดิ์ (บ้านของเล่น) และ ลักษณ์ยุทธ ตรีชัย

เล่มที่ 7 ติวลูกเตรียมสอบ คู่มือเตรียมสอบเข้า ป.1 โรงเรียนในเครือสาธิต เล่ม 1 ของ PASS

เล่มที่ 8 ติวลูกเตรียมสอบ คู่มือเตรียมสอบเข้า ป.1 โรงเรียนในเครือสาธิต เล่ม 2 ของ PASS

เล่มที่ 9 ติวลูกเตรียมสอบ คู่มือเตรียมสอบเข้า ป.1 โรงเรียนในเครือสาธิต เล่ม 3 ของ PASS

เล่มที่ 10-14 ของ ดอกหญ้าวิชาการ

เสริมทักษะพื้นฐานระดับอนุบาล เพื่อสอบเข้า ป.1 เล่ม 1-5 ของ อ. สุภัทรา ฤทธิบุตร

เล่มที่ 15-18 ของดอกหญ้าวิชาการ

เสิรมทักษะพื้นฐานระดับอนุบาล 3 เตรียมสอบเข้า ป.1 เล่ม 1-4 ของ อ. ทองทิพย์ วงศ์หลิว

เล่มที่ 19 เกี่ยวกับการฟัง

แบบฝึกทักษะ การอ่านจับใจความ ป.1 ของ The Book ผู้แต่ง อ. ทินรัตน์ จันทราทินันท์

เกี่ยวกับการฟัง จับใจความ เล่มนี้ ครูติวมีกันทุกคน

เล่มที่ 20 เชาวน์ไว แบบทดสอบเตรียมความพร้อม ของ ห้องเรียน

เล่มที่ 21-26 (6 เล่มนี้ต้องมี)

แบบฝึกทักษะเด็กปฐมวัย สำหรับเตรียมสอบเข้าชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เล่ม1-6 โดย วรมน สอนสมบุญ

จบการสึกษาสาขาการศึกษาปฐมวัย ครุศาสตรบัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 6 เล่มนี้ ครูที่ดังที่สุด 2 จ้าว

ใช้สอนเด็กช่วง Intensive ที่ผ่านมาค่ะ

เล่มที่ 27 เสริมไอคิว ของ ห้องเรียน

เล่มที่ 28 ฉลาดคิด ของห้องเรียน

เล่มท่ 29 สมองไว ของห้องเรียน

เล่มท่ 30 ทางแสนกล ของห้องเรียน

เล่มที่ 31 คำตรงกันข้าม ของ หนังสือสายน้ำ

เล่มที่ 32 เรียนรู้ลักษณนาม ของหนังสือสายน้ำ

เล่มที่ 33 เตรียมความพร้อม ความรู้ทั่วไป ของ ปิกัสโซ

เล่มที่ 34 เตรียมความพร้อม คณิตศาสตร์ ของ ปิกัสโซ

เล่มที่ 35 เตรียมความพร้อม เชาวน์ปัญญา ของ ปิกัสโซ

เล่มที่ 36 เตรียมความพร้อม ภาษาไทย ของ ปิกัสโซ

เล่มที่ 37 ลากเส้นก่อนเขียน ของปิกัสโซ

(ปัจจุบันไม่แน่ใจว่าหนังสือเหล่ายังมีครบหรือไม่ ปีนี้เห็นเพื่อนไปกว้านซื้อหนังสือมาติวลูกมีหนังสือใหม่ๆน่าสนใจอีกมากค่ะ)

เมื่อรู้รายชื่อหนังสือแล้วก็ไปตามล่าหาซื้อมาค่ะ ทั้งศูนย์หนังสือจุฬา, ร้านซีเอ็ด, ดอกหญ้า ฯลฯ เรียกว่าเจอร้านหนังสือที่ไหนเป็นต้องแวะเข้าไปดู แต่ก็ซื้อมาไม่ถึงครึ่งหรอกนะคะ เมื่อมีคู่มือแล้วก็เริ่มลงมือกันเลย วันธรรมดาก็สัก 1 ชั่วโมงก่อนนอน วันเสาร์อาทิตย์ก็ 4 ชั่วโมง เช้า 2 บ่าย 2 เพื่อนบางคนก็ว่าโอโหติววันละ 4 ชั่วโมงหนักจัง ที่จริงไม่หนักเท่าไรหรอกค่ะ ก็เราไม่ได้ถือไม้นั่งคุมให้ลูกนั่งทำแบบฝึกหัดตลอดเวลานี่นา แต่มีเทคนิค มีกิจกรรมแทรกตามแบบฝึกหัดด้วยเพื่อให้ลูกไม่เบื่อหน่าย บางครั้งก็เนียนจนเจ้าตัวเล็กไม่รู้ตัวว่ากำลังติวอยู่ซะด้วยซ้ำไป แม่น้องกานต์ จะใช้คำว่า เรามาเล่น....กันนะ เช่น  เรียนเรื่องภาพเงา, ภาพสะท้อนกระจก ก็เอากระจกมาส่องพิสูจน์กีย, ภาพพับครึ่ง ก็เอากระดาษมาตัดจริง ๆ เพื่อพิสูจน์ว่าภาพโจทย์จะได้คำตอบออกมาเป็นแบบใดถูกต้องเหมือนที่ลูกคิดไว้หรือไม่ พูดถึงเทคนิคการเรียนการสอน ก็คิดเอาเองว่านอกจากทำแบบผึกหัดในกระดาษแล้ว ควรให้ลูกได้ปฏิบัติจริงในทุก ๆ หัวข้อด้วย เพื่อให้รู้แบบเข้าใจถ่องแท้และหาเหตุผลได้ มิใช่การจำแบบฝึกหัดเอามากากบาท เลยให้ลูกได้สนุกจากอุปรณ์รอบ ๆ ตัว พูดง่าย ๆ คือ ไม่ต้องไปซื้อ ไปหานั่นเอง มาดูกันว่ามีอะไรบ้าง

อุปกรณ์ในการติวโจทย์เชาวน์

  1. ลูกเต๋า น้ำเต้า ปู ปลา ใช้สอนเรื่องอนุกรมลูกเต๋า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อสอบเชาวน์ เราเอาลูกเต๋ามากางออกให้เขา เห็นว่าด้านต่าง ๆ มีรูปอะไรบ้าง แล้วประกอบกลับเข้าไปใหม่ เมื่อโยนเต๋าออกหน้านี้แล้ว ด้านบนควรเป็นรูปใดเป็นต้น
  2. กระดุมและลูกปัดสีต่าง ๆ ใช้สอนอนุกรมแถวเดียว เราก็เรียงลูกปัด ตั้งโจทย์แล้วให้ลูกเรียงตามให้เหมือนก่อน หรือ ให้ร้อยใส่เอ็นฝึกกล้ามเนื้อก็ได้ เมื่อทำได้คล่องดีก็เพิ่มความยาก โดยเรียงแล้วเว้นว่าง xoexo…x…e, …o แบบนี้ค่ะ ผลัดกันตั้งโจทย์ ผลัดกันตอบสนุกดี เพราะตอนลูกตั้งโจทย์ลูกก็ต้องคิดผลสัมฤธิ์ของคำตอบก่อนได้คิด 2 ชั้นเลย เจ๋งปะ?
  3. อุปกรณ์ในห้องครัว สอนคณิตศาสตร์เรื่องชั่ง, ตวง, วัด, ปริมาตรความจุของภาชนะต่าง ๆ หน่วยช้อนชา ช้อนโต๊ะ กรัม มิลลิกรัม กิโลกรัม เป็นต้น ให้ลูกเล่นตวงน้ำสำหรับโจทย์ปริมาณ-ระดับน้ำในภาชนะต่างๆ ให้ลูกอ่านสูตรอาหารต่าง ๆ และจัดเตรียมส่วนผสม ลูกจะรู้จักหน่วยตวงและได้ลองปฏิบัติจริง ง่ายสุดก็เริ่มจาก “แพนเค้ก” ค่ะ อย่าลืมสอนความรู้รอบตัวให้ลูกได้รู้จักชื่อ-วิธีใช้อุปกรณ์ต่างๆในครัว ซึ่งมีโจทย์คำถามประเภทนี้มากมายในหนังสือติวเชาวน์ต่าง ๆ
  4. ร้านขายผัก ร้านขายขนมไทย วันนึงนั่งติวอยู่ปรากฏว่าลูกไม่รู้จักหัวปลี  OK! เราได้เวลาไปตลาดกันแล้วไปรู้จักผักต่างๆกันอันไหน หัวปลี, ถั่วพู, เผือก, มะเขือพวง, บวบ ให้ได้สัมผัส ตาดู มือจับ จมูกดม เพราะบางทีลูกรู้จักเมื่อมันอยู่ในจานอาหารแล้ว แต่ไม่รู้ว่าหน้าตาเป็นอย่างไร ตามธรรมชาตินั้นเด็ก ๆ ก็อาจไม่คุ้นเคย อ้อ! เตรียมพร้อมสำหรับคำถามประเภทอะไรต่างจากพวกด้วยค่ะ
  5. ไม้บล็อคลูกบาศก์ กล่องหลาย ๆ เหลี่ยม สำหรับเรียนเรื่องกล่อง นี่ก็หากล่องมาแกะนับด้านพิสูจน์กันเลย เพราะดูโจทย์ในแบบฝึกหัดแล้วมันงง ลูกไม่เข้าใจ พอฉีกกล่องจริง ๆ ให้ดูแล้วเทียบกับโจทย์ในแบบฝึกหัด ทีนี้กระจ่างเลยค่ะ
เราสอนลูกได้ตลอดเวลาจากสิ่งรอบๆตัว อย่ายอมแพ้ค่ะ ทนพูดปากเปียกปากแฉะพร่ำสอน พร่ำบอกทุกสิ่งที่เราทำในชีวิตประจำวันให้ลูกได้เรียนรู้ เพราะข้อสอบสาธิตส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของประสบการณ์ในเรื่องรอบ ๆ ตัวเรานี่เอง ติวไปติวมา ทั้งโหดทั้งฮาเหนื่อยกันไปทั้งคู่ โออ...นิจจา.. เด็กป.1 ต้องมีความรู้ในหัวมากกันขนาดนี้เลยหรือเนี่ย... คุณพ่อแอบบ่น แต่แม่จะไม่ยอมแพ้หรอกลูก จะต้องบิวท์อารมณ์ให้ลูกสนุกสนานที่จะติวต่อและมีไฟที่จะไปสอบอยู่เสมอ  ช่วงหลัง ๆ ลูกก็มีบ่นนะ  “ลูกเบื่อโจทย์อนุกรมแล้ว ไม่อยากทำแล้ว” น่าเห็นใจมากค่ะ เราเองทำโจทย์ประเภทรูปหมุน รูปพลิกพวกนี้เยอะ ๆ ยังปวดหัวเลยนะ ไม่เป็นไรเบื่อโจทย์ในแบบฝึกหัดก็มาเล่นอนุกรมจากของเล่นกระดุมแทนแล้วกัน

ทำตารางวัดผลการเรียนรู้

แม่น้องกานต์ใช้การประเมินผลจากการทำแบบฝึกหัดของลูกค่ะ โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ เพื่อกำหนดทิศทาง การเรียนการสอนให้รอบรู้ครบรอบด้าน คล้ายเป็น checklist ว่าเรื่องใดเป็นจุดอ่อนที่ต้องเน้นย้ำ ทำประเมินไว้ 3 ระดับ ก็ต้องพยายามพัฒนาลูกให้มีความพร้อมให้มากที่สุดค่ะ

ระดับ 1  เรื่องที่ชัวร์ผ่านได้ลูกเข้าใจดีแล้ว

ระดับ 2  เรื่องที่เข้าใจปานกลาง ยังมีผิดพลาดอยู่

ระดับ 3  อันนี้จุดอ่อนที่ต้องเน้นย้ำอธิบายเพิ่มเติม

เพื่อน ๆ ผู้ปกครองก็อาจจะทำให้ละเอียดกว่านี้ก็ได้นะคะ

ซื้อใบสมัคร

บอกแล้วว่าถ้าตั้งใจจะสอบ เราก็ขอตั้งใจเต็ม 100 ทุกขั้นตอน เพราะเราไม่รู้ว่าคะแนนจะเบียดกันมากแค่ไหน ถ้ามีเด็กได้คะแนนเท่าลูกเราเป๊ะ ๆ สัก 50 คน แล้วใครสมควรจะได้ที่นั่งนั้นไปล่ะ ดังนั้นสำ หรับครอบครัวเรา การแข่งขันเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ไปซื้อใบสมัครแล้วค่ะ... เว่อร์ไปอีกมั้ยเนี่ย :)
ถึงแม้จะเปิดขายหลายวันแต่แม่น้องกานต์ไปซื้อในวันแรกประมาณ 9 โมงเช้า เพราะอย่างน้อย อาจเป็นส่วนหนึ่งที่เราแสดงความตั้งใจมาสอบ ผู้คนไม่มากอย่างที่คาดไว้ แต่ใบสมัครก็ขายไปแล้วประมาณ 400 ใบ ก็ไม่ทราบว่ามี โรงเรียนติวเตอร์มาซื้อไปให้เด็กเป็นล็อตหรือเปล่านะ แต่คุณครูที่ขายใบสมัครก็ดูจะระมัดระวังในเรื่องนี้เพราะพยายามพูดกับคนที่ต้องการซื้อมากกว่า 2 ใบว่า ซื้อไปให้ใคร? ควรให้ ผู้ปกครองเด็กมาซื้อเองจะได้สอบถามครูเผื่อไม่เข้าใจวิธีกรอกเอกสาร อีกอย่างที่เคยได้ยินรุ่นพี่แนะนำมา คือ $$ถ้าเด็กได้นั่งสอบใกล้เพื่อนที่รู้จักก็มีโอกาสจะเสียสมาธิเพราะมัวเล่นกันนะคะ ที่จุดขายใบสมัครจะมีตัวอย่างการกรอกเอกสาร, สิ่งที่ควรเตรียมตัวในวันสอบ และกำหนดการต่าง ๆ แสดงไว้ให้ดู จดหรือถ่ายรูปเก็บมาไว้ดูประกอบนะค่ะ
เมื่อกลับมาเราอ่านเอกสารสมัครทุกใบหลายรอบจนเข้าใจก่อนลงมือกรอก บางเอกสารห้ามพับ, ห้ามตัดออกจากกันโปรดดูให้ดี ป้องกันการตกม้าตายด้วยเรื่องง่าย ๆ แต่ก็อย่าวิตกเกินไปนะ (บอกตัวเอง :)) กรอกใบสมัครและเอกสารทุกแผ่นแบบตั้งใจสุด ๆ อีกเช่นกัน ในเอกสารจะมีให้เด็กเซ็นต์ชื่อเอง 1 แห่งด้วยนะคะ ใครจะรู้ อาจชนะกันตรงใบสมัครก็ได้นี่นา 555 จัดเตรียมเอกสารประกอบที่จำเป็นและรูปถ่ายให้พร้อม  สำหรับรูปถ่าย เราคิดว่าเป็นส่วนประกอบที่สำคัญมาก (อีกแล้ว) ก็โหงวเฮ้งดีมีชัยไปกว่าครึ่งไง ถ้าลูกเราหน้าตาง่วงนอน ดูเครียด แววตาไม่สดใสคงไม่เหมาะ  ดังนั้นตอนถ่ายรูปก็กำกับกันสุดฤทธิ์ ปล่อยมุกฮาหลอกล่อลูก และขอเลือกรูปเองก่อนอัด (เว่อร์ทุกขั้นตอน)
รูปที่ใช้ต้องเป็นรูปเดียวกันทั้งหมดทุก ๆ เอกสาร ดังนั้นถ้ามีรูปไม่พอไปถ่ายใหม่เถอะค่ะ เพราะถ้าคุณครูไม่รับใบสมัครล่ะก็ Game over เลยนะคะ หากจะแก้ปัญหาโดยไปถ่ายรูปใหม่หน้ามหาวิทยาลัยก็คงวุ่ยวาย เพราะวันสมัครเค้าไม่ต้องเอาเด็กไปด้วยค่ะ แต่บางคนก็พาลูกมาวิ่งเล่นรอผู้ปกครองอยู่ที่สนาม

วันสมัคร

ก่อนถึงวันสมัคร เราตรวจเอกสารทั้งหมดอีก 2 รอบ เพราะพรุ่งนี้ต้องยื่นสมัครรอบเช้า อย่าลืมไปก่อนเวลา เพราะเรียกเข้ายื่นสมัครตามคิวค่ะ วันนี้ที่หอพระหน้าโรงเรียนจะเต็มไปด้วยดอกไม้ธูปเทียน และขนมต่าง ๆ แม่น้องกานต์ก็ไม่ได้เตรียมสิ่งใดมา จึงยกมือไห้วที่หอพระของโรงเรียนสาธิต และที่อนุสาวรีย์ท่านหลวงสุวรรณ ในมหาวิทยาลัยด้วย บอกท่านว่าว่า “เราเป็นศิษย์ที่รักสถาบันคนนึง เราอยากให้ลูกเรียนที่นี่เช่นกัน ถ้าน้องกานต์มีความรู้ มีบุญพอก็ขอให้ท่านรับเข้ามาเป็นศิษย์ด้วย” แอบใช้สัจจะอธิฐานนิดนึง แต่ในใจพ่อแม่และญาติ ๆ ก็แอบมั่นใจว่าจากความรู้ที่อยู่ในตัวลูกต้องทำข้อสอบได้แน่ ๆ ขอเพียงวันนั้นองค์ลง สมาธิมา โชคเข้าข้างเราบ้างเท่านั้นเอง

.... อ่านต่อ ตอนที่ 3/3