กรอบและแผนนักฟุตบอลตัวน้อย

พิมพ์

( 0 Votes )
 


“กรอบ “ และ “แผน” เพื่ออนาคตนักฟุตบอลตัวน้อย

สวัสดีครับ ขอเขียนถึงเรื่องที่ดูเป็นแนวบริหารบ้างนะครับ แต่ว่าก็เป็นการบริหารกันในครอบครัว และสำหรับเจ้าตัวน้อยประจำบ้าน หลายบ้านมีพ่อเป็นนักกีฬาซึ่งแน่นอนว่าเรื่องของการวางแผนฝึกซ้อมสำหรับลูกจะค่อนข้างดี และเอียงไปทางแนวหนัก ถึงขั้นหนักมาก เนื่องจากอยากให้ลูกได้ดีกว่าคุณพ่อหรือต้องการสร้างอนาคตที่ชัดเจนในทางการกีฬาให้กับลูกน้อย บางท่านอาจไม่ใช่นักกีฬามาก่อน แต่ชื่นชอบก็ตั้งใจจะให้สิ่งที่ดีกับลูก ซึ่งบางทีอาจให้โดยวิธีที่ยังไม่ถูกต้องนัก ดังนั้นจำเป็นต้องทำความเข้าใจกัน ณ ตรงนี้เลยว่ามันควรมีทิศทาง หรือแบบในการช่วยประคองให้ลูกน้อยของเราเดินไปตามทางที่คุณพ่อช่วยดูแลได้ตลอดอย่างมีคุณภาพ

 

กรอบและแผนที่ดีต้องมีความยืดหยุ่น

ก่อนอื่นผมต้องขอโทษผู้ปกครองทุกท่านนะครับสำหรับเรื่องที่นำมาคุยกันอาจเป็นเรื่องที่เหมือนก้าวก่ายนโยบายของครอบครัว แต่เนื่องจากผมผ่านรูปแบบต่างๆ ของแต่ละครอบครัวมาค่อนข้างมาก และด้วยจำเป็นต้องวางแผนการฝึกซ้อมมามากมายหลายรายการโดยมีแต่ละครอบครัวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผน เช่น การสร้างความกดดันให้กับลูกหลาน ดุ ด่า สร้างเงื่อนไขต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อของให้ถ้าทำได้ ให้เลิกเล่นถ้ายังไม่ได้เรื่อง ต่างๆ เหล่านี้ล้วนมีผลต่อสภาพจิตใจเขาทั้งนั้นครับ และเขาจะเครียดมากๆ ถ้าทำได้ไม่ดีอย่างที่หวังไว้ ผลกระทบต่อเนื่องก็คือ แผนการสำหรับอนาคตเขามันจะเลือนลางไปเรื่อยๆ เพราะเกิดภาพลบในใจเขาสำหรับการเป็นนักกีฬาที่เก่งในอนาคต

นักฟุตบอลเยาวชนเก่งๆ หลายคนมีความเครียดในการฝึกซ้อมบางวันตั้งใจมากไปกระทั่งเกิดความผิดพลาดบ่อย บางคนหลังซ้อมจะมีการเก็บตัวเงียบ ไม่คุยกับใคร บางคนมีการเก็บอารมณ์ไม่อยู่ มักมีปัญหาทะเลาะวิวาทกับทีมตัวเอง หรือกับคู่แข่งขัน แม้ว่านักฟุตบอลแต่ละคนจะทำผลงานได้ดี แต่ผมมองเรื่องของพัฒนาการด้านต่างๆ โดยเฉพาะอารมณ์ซึ่งถือว่าสำคัญมากครับสำหรับการเริ่มต้นสู่การเป็นนักกีฬาที่ดี

เนื่องจากภาวะทางอารมณ์ของเด็กจะส่งผลต่อระบบเจริญเติบโตของร่างกาย เด็กที่ตัวโตไม่ได้หมายถึงเขาแข็งแรง เด็กที่แข็งแรงไม่ได้หมายความว่าเขามีจิตใจที่กล้าหาญทุกคน นั่นเป็นเพราะภาพลักษณ์ที่เราเห็นมันไม่ได้สื่อความหมายในเรื่องต่างๆ ที่เรามองไม่เห็น นอกจากการสังเกตพฤติกรรมของเขา สัมผัสกับเขาโดยตรง และมองเขาด้วยความเข้าใจ ดังนั้นสำหรับกรอบ หรือแผนที่วางไว้ให้กับลูกหลานจึงต้องมีการยืดหยุ่นให้กับเขา เป้าหมายตั้งไว้ก็จริง แต่หากเขาอ่อนล้าก็ต้องรอให้เขาฟื้นตัว มีแรง หรือกระตุ้นเขาด้วยวิธีที่เป็นการเสริมกำลังใจ อย่าลืมว่าเรากำลังสร้างเขาให้เป็นนักกีฬาที่ดีและเก่งตามแผน โดยมีกรอบที่เราตีไว้ให้เขา กรอบและแผนก็ไปด้วยกันได้แล้ว เพียงแต่มีความยืดหยุ่นเสริมเข้าไปอีกในบางจังหวะเท่านั้นเองครับ

ความหมายของกรอบกับแผน

เมื่อมีการแข่งขัน การฝึกซ้อมเป็นเรื่องสำคัญมาก ผู้ปกครองทุกคนจะให้ความสำคัญกับการฝึกซ้อมและการแข่งขันมาก บางคนกระตุ้นด้วยเสียงดังๆ บางคนกอดลูก และลูบหัวเขาก่อนเดินมาหาผม บางคนยืนมอง ยิ้ม และหันหลังเดินไปทำธุระส่วนตัวปล่อยลูกไว้กับผม แต่ละบ้านมีแนวทางต่างกันออกไป นั่นก็พอจะมองย้อนกลับไปได้ว่าแต่ละบ้านเขามีแผนหรือกรอบสำหรับลูกทีมผมกันอย่างไรบ้าง

เรากลับมาคุยเรื่องกรอบที่แต่ละท่านตีไว้ให้ลูกหลานกัน แผนคือการเอาข้อมูลเท่าที่มีอยู่กับระยะเวลามาวางกำหนดการต่างๆ ว่าจะทำอะไร ตอนไหน อย่างไร ส่วนกรอบเป็นการตีไว้ว่าควรอยู่ในนี้ ไปตามนี้ ถามว่าแล้วมันต่างกับแผนตรงไหน ต่างกันตรงความอึดอัดครับ ลองนึกถึงเราเดินเข้าไปในบริเวณที่มีรั้วกั้นพื้นที่ไว้ก็ได้ครับ ต่อให้มันกว้างอย่างไรมันก็มีกรอบให้เราไปได้แค่นั้น คนที่ตีกรอบไว้ก็ต้องการอย่างนั้นคือไม่ให้ออกนอกกรอบ มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน คนที่ทำตามต้องทำอย่างตั้งใจและทำให้สำเร็จ นั่นคือกรอบและคนในกรอบ ส่วนแผนเป็นเรื่องของนโยบาย คุยกันบอกกันแล้วทำตามที่บอก ทำไม่ได้ก็มาคุยกัน หรือมีปัญหาก็มาคุยกันมาปรับแก้กัน มันมาแนวนี้มากกว่า ดังนั้นคำว่ากรอบกับแผน มันคล้ายกันครับแต่ความรู้สึกและวิธีการมันต่างกัน

ครอบครัวของเด็กคนหนึ่งลูกชายได้รับการเอาใจใส่ดูแลอย่างดีจากคุณพ่อ รองเท้าสตั๊ดรุ่นใหม่มีใส่เสมอ ดูเขารักลูกมากครับ แต่เมื่อไรที่ลูกชายซ้อมไม่ได้อย่างใจ หรือผิดพลาดในการแข่งหรือซ้อม มักจะโดนเรียกไปอบรม ดุ แรงๆ เสมอ ทำอย่างไรกันครับ ผมเป็นโค้ช แต่ลูกทีมผมเป็นลูกชายของเขา น่าคิดนะครับ “ใครควรทำอย่างไร ตอนไหน” คือเรื่องที่ทุกคนต้องยึดเป็นหลักก่อน ผมดูเด็กคนนี้ตลอดเวลาเกือบสองปี ล่าสุดเด็กได้ดีครับ ได้เข้าโรงเรียนดีๆ พร้อมกับได้เล่นฟุตบอลกับสถาบัน ส่วนตัวคุณพ่อซึ่งก่อนหน้านี้ไปช่วยทีมโรงเรียนของลูกชายฝึกซ้อมก็ได้รับการเชิญไปเป็นผู้ฝึกสอนทีมโรงเรียนเดิมของลูกชาย คราวนี้เขาต้องไปคุมทีมโรงเรียนแทน จากคำบอกเล่าของคุณพ่อเด็กคนนี้จากการได้ไปคุมทีมซ้อมและแข่งขันหลายครั้ง เขากำลังได้รับสิ่งที่เขาเคยสร้างไว้ให้ผม และเข้าใจถึงสิ่งที่ผมเคยเตือนเขาเรื่องการสร้างความกดดันให้กับลูกชาย  ส่วนอีกคนจะเลี้ยงลูกแบบประนีประนอมแต่ให้ตั้งใจซ้อม ซึ่งลูกชายรายนี้ก็ตั้งใจฝึกซ้อมดีมาก มีพัฒนาการที่ดีเช่นกัน แต่จะมีอิสระภาพในการคิด การซ้อม ดูมีความสุขกับการฝึกซ้อมและแข่งขันมากกว่า ล่าสุดเขาก็ได้เรียนและเล่นฟุตบอลให้กับสถาบันที่ดีแห่งหนึ่งเช่นกัน หลังจากก่อนหน้านี้ทั้งสองคนได้รับการติดต่อให้เข้าเรียนในหลายโรงเรียนที่มีชื่อเสียง

ผมนำลูกทีมสองคนมาเปรียบเทียบกันเพราะเขามีหลายอย่างที่เทียบกันได้ เช่น อายุ ความสามารถด้านกีฬา โอกาสในการศึกษา สิ่งที่ต่างกันก็คือ กรอบ และแผนการที่เขาทั้งสองได้รับจากครอบครัว จริงๆ แต่ละครอบครัวก็มีแนวทางของการวางกรอบต่างกันไปนะครับไม่ได้ว่าการตีกรอบไม่ดี แต่อย่างที่บอกคือ การดูแลจิตใจของเขาเป็นเรื่องสำคัญมาก มากพอๆ  กับการดูแลอนาคตของเขา หากสภาพจิตใจเขามีความสุข การพัฒนาทางอารมณ์เขาจะช่วยให้บุคลิกที่แสดงออกมาดี และเขาจะเป็นนักกีฬาที่มีสภาพจิตใจที่มั่นคงพร้อมรับสถานการณ์ต่างๆ ได้เป็นอย่างดีตามวัยของเขา เรื่องนี้ต้องช่วยกันนะครับ กรอบและแผนจะได้นำพาลูกหลานของเราไปสู่เป้าหมายได้อย่างที่เราวางไว้นะครับ


ติดต่อหรือสอบถามรายละเอียดได้ที่

 อาจารย์ พิทักษ์ ศุภบัณฑิตย์กุล
    อีเมล์ pitak_immanuel@yahoo.com