ป้ายโฆษณา



พิมพ์อีเมล

( 16 Votes )

เล่าสู่กันฟัง... เส้นทางสู่สาธิตเกษตรของกานต์

ก่อนที่คุณจะปิดโอกาสลูกได้สอบเข้าโรงเรียนสาธิต อ่านเรื่องเล่านี้ก่อน แล้วคุณอาจมีกำลังใจ ความมุ่งมั่น แนวคิดที่จะ "สู้สักครั้ง" เรารวมข้อมูลการสอบสาธิต ตั้งแต่รายชื่อโรงเรียน เกณฑ์การรับสมัคร แนวข้อสอบ การเตรียมตัวของพ่อแม่ เตรียมตัวลูก ที่พ่อแม่สามารถติวเองได้ จากประสบการณ์จริงของกานต์ แล้วคุณจะรู้ว่า ครอบครัวธรรมดา ๆ ก็สามารถผลักดันลูกสอบเข้าโรงเรียนสาธิตได้ ขอเพียงแค่ทำให้ดีที่สุด

เตรียมตัวอย่างไร? ติวกันอย่างไร?

ถามและพูดคุยกันบ่อยทั้งเพื่อน ๆ คนรู้จัก จากเว็บ karn.tv และ fanpage เกี่ยวกับการเตรียมตัว ติวกานต์เข้าสาธิตเกษตรได้อย่างไร แม่น้องกานต์จึงได้รวบรวมประสบการณ์ ที่เราติวเองมาเขียนเล่าเรื่องราว โหดมันฮา จนถึงน้ำตาร่วง... ให้เพื่อน ๆ ที่จะพาลูกเข้าสนามประลองแห่งนี้ในปีต่อ ๆ ไปค่ะ เราใช้วิธีการแบบผสมผสาน ทั้งแบบฝึกหัด และกิจกรรม เพราะเชื่อว่า "การเรียนรู้ผ่านกิจกรรม ทำจริง รู้กระจ่าง เด็กจะเข้าใจได้นาน และนำไปใช้ได้ ไม่ว่าโจทย์จะออกมาผลิกแพลงไปอย่างไร"
เริ่มแรกเราไม่ได้วางแผนมาก่อนว่าจะต้องให้ลูกไปสอบโรงเรียนสาธิต เรียนใก้ลบ้านก็ดีแล้ว (เป็นพวกองุ่นเปรี้ยว อิอิ) เลยไม่เคยสนใจว่าโรงเรียนสาธิตคืออะไร? จนลูกเปิดเทอมอนุบาล 3 ด้วยความที่เราชอบ search นั่นนี่สารพัดเป็นประจำ จึงได้ไปอ่านข้อมูลเกี่ยวกับกระแสสอบเข้าเรียนแนวสาธิต เมื่ออ่านไปเหมือนเปิดโลกใหม่ เริ่มคล้อยตาม เริ่มเห็นข้อดีมากมาย เขาว่าเรียนแนวบูรณาการ เน้นการคิดวิเคราะห์ ไม่ใช่ท่องจำ อืมม์... อยากให้ลูกคิดเป็น สิ่งแวดล้อมดี อุปกรณ์การเรียนเพียบ อาจารย์เก่ง ก็ดีน่ะซิ เข้าได้ก็เรียนยาวถึง ม.6 หรืออาจได้โควต้า มหาวิทยาลัยอีก เพราะการให้ลูกไปสอบเข้า ม.1 นี่ก็โหดหินสุด ๆ ตกลงใจแล้วอยากให้ลูกลงสอบ รีบทำโปรเจคเสนอคุณพ่อทันที โน้มน้าวสุดฤทธิ์เพราะเรามีเวลาเตรียมตัว 1 ปี ซึ่งคงจะน้อยมากถ้าเทียบกับเด็ก ๆ ที่ ได้ติวมาแล้วตั้งแต่ อ.2  ที่สำคัญเราไม่คิดจะใช้วิธีส่งลูกไปติวกับครูและติวเตอร์ที่มีกันมากมาย มหกรรม search ระดมความรู้ของแม่ เพื่อติวลูกเข้าสู่รั้วโรงเรียนสาธิตจึงเริ่มขึ้น เมื่อการต่อสู้ของนักรบตัวน้อยเริ่มต้นขึ้น มันย่อมไม่จบลงง่าย ๆ เอาล่ะ! มาดูกันว่าเราทำและเจออะไรมาบ้างสำหรับการส่ง ด.ช.กานต์ เข้าสู่รั้วสาธิตเกษตร
เป็นความตั้งใจไว้ตั้งแต่ตอนน้องลูกสอบเข้า ป.1 โรงเรียนสาธิตเกษตรได้เมื่อปีการศึกษา 2552 ว่ายังไงก็จะขอเขียนเรื่องราวเส้นทางเดิน ของ ด.ช.กานต์ ที่เราประสบความสำเร็จได้ก็เพราะการร่วมใจกันของพ่อแม่และคนสำคัญที่สุดคือลูก (นักรบตัวน้อยของเรา) เราหาวิธีการสอนกันเองที่คิดว่าเหมาะสมกับการเรียนรู้ของลูก เติมความรู้แบบสะสมฝากธนาคาร มาตั้งแต่เล็ก ๆ สอนเค้าจากสิ่งรอบ ๆ ตัวได้ทุกที่ทุกเวลาโดยยึดหลักว่า ควรเรียนรู้อย่างเข้าใจจริง โดยการเล่นผ่านกิจกรรม ไม่ใช่เน้นจำตัวอย่างแบบฝึกหัดให้ได้มากที่สุด เพราะถ้าลูกเข้าใจหลักการเจอโจทย์พลิกแพลงยังไงก็ไม่จนมุมค่ะ
เราไม่ได้อวดอ้างว่า กระบวนการทั้งหมดนี้เป็นสูตรสำเร็จหรือตัวอย่างที่ถูกต้องทั้งหมด  เพราะเด็กแต่ละคนก็มีอุปนิสัยในการเรียนรู้และจดจำข้อมูลแตกต่างกัน ปัจจัยแวดล้อมในครอบครัวที่ต่างกัน เรามั่นใจว่าผู้ปกครองทุกคนมีความรู้เพียงพอที่จะสอนลูกได้อย่างแน่นอน แต่อาจมีเทคนิควิธีการสอนการอธิบายถ่ายทอดให้ลูกเข้าใจได้แตกต่างกัน จึงเพียงขอแบ่งปันวิธีที่เราใช้กับ ด.ช.กานต์เท่านั้นค่ะ

เส้นทางเดินของกานต์

เริ่มแรกที่ลูกจะเข้าเรียนชั้นอนุบาล เราตัดสินใจเลือก โรงเรียนใก้ลบ้านไว้ก่อนเพราะอยากให้ลูกปรับตัวง่ายที่สุด ลูกจะได้ไม่ต้องตื่นเช้ามาก ๆ กินอาหารในรถ และเดินทางไกลทั้งเช้า-เย็น แทนที่จะได้กลับมาวิ่งเล่นกับเพื่อน ๆ แถวบ้าน จึงเลือกโรงเรียนโสมาภา 2 เพราะ ออกจากบ้านไม่เกิน 10 นาทีก็ถึงแล้ว อีกทั้งที่นี่เปิดสอนถึงชั้น ป.6  ด้วยแล้ว เราจึงไม่เคยวางแผนล่วงหน้าว่าจะให้เขามาสอบโรงเรียนแนวสาธิต หรือประมาณองุ่นเปรี้ยวก็ไม่แน่ใจ เพราะรู้สึกอยู่ลึก ๆ ว่า โรงเรียนสาธิตดูช่างไฮโซเป็นโรงเรียนในฝันของคุณพ่อคุณแม่ อัตราส่วนแข่งขันที่สูงประมาณ 1:30-40 มันดูจะไกลเกินเอื้อมไปมากทีเดียว จึงเพียงประมาณไว้ว่า เมื่อเรียนจบชั้นป.6 ก็ไปสอบเข้า ม.1 ที่ โรงเรียนบดินทรเดชา 2 หรือโรงเรียนสตรีวิทยา 2 ที่อยู่ไม่ไกลบ้านอีกเช่นกัน เรียกว่า อะไรก็แล้วแต่ ขอดีและใกล้บ้านไว้ก่อน :)

จุดเปลี่ยน

วันนึงเมื่อ ด.ช.กานต์เปิดเทอม อ.3 ได้ไม่นาน  ด้วยความที่เราเองมีโอกาสได้ใช้อินเตอร์เน็ทเพื่อsearch ข้อมูลสารพัดสารพันอยู่เป็นประจำ วันหนึ่งโอกาสได้อ่านข้อมูลเกี่ยวกับกระแสการสอบเข้าโรงเรียนแนวสาธิต ที่เขาว่าฮิตฮ็อตติดอันดับต้น ๆ ในใจพ่อแม่ เห็นเค้าว่า เรียนแนวบูรณาการ เน้นการคิดวิเคราะห์ สิ่งแวดล้อมในโรงเรียนดี ครูอาจารย์มีความสามารถ ถ้าเข้าได้แล้วก็เรียนยาวไปจนถึงม.6 ได้ อันนี้เจ๋ง ลูกเราจะไม่ต้องเจอสนามสอบและสถานการณ์ที่โหดหินกว่าในการสอบแข่งขันเข้า ม.1 โอ..พระเจ้าจอร์จมันยอดมากกก... เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงมีกระแสการติวสอบ การเตรียมความพร้อมให้เด็กที่แสนจะเข้มข้นทุกปี  ถ้าจะติวกับคุณครูติวเตอร์ชื่อดังบางท่าน คุณอาจต้องเอาชื่อลูกไปจองคิวกันตั้งแต่ลูกเริ่มพูดได้กันทีเดียว การแข่งขันที่ดุเดือดไปด้วยเลือดและน้ำตา (เว่อร์ซะ...) สำหรับครอบครัวธรรมดา ๆ อย่างเรานับเป็นการลงทุนที่แสนแพงในการติว 2 ปี 4 เทอมเหยียบแสนบาท  ทั้งยังมีคำล่ำลือเรื่องผู้สนับสนุนโรงเรียน ผู้มีอุปการคุณกับโรงเรียนอีก ทั้งยังบุตรหลานบุคลากรที่มีโควต้าที่นั่งอยู่แล้วอีก การพาลูกเข้าสู่รั้วโรงเรียนสาธิต... เฮ้อ!! อะไรมันจะวิบากขนาดนั้น
ยิ่งอ่านก็ยิ่งมันส์ ชักจะอยากรู้มากขึ้นแล้วซิ จึงสืบค้นไปเรื่อย ๆ ในหลาย ๆ เว็บ จนเจอกระทู้ที่ผู้ปกครองถามเรื่อง “เกณฑ์อายุของเด็กที่จะสามารถสมัครสอบโรงเรียนในแนวสาธิต ต่าง ๆ ในปี 52”  อ่านแล้วลองเทียบกับลูกดู อ้าว! ลูกเราก็อายุเข้าเกณฑ์สอบนี่นา ยังสมัครได้นะเนี่ย เด็กทุกคนจะมีโอกาสลองสอบสนามนี้ได้เพียง 1 ครั้งเท่านั้น ในใจเริ่มประมวลผลชั่งน้ำหนักความรู้ความสามารถของลูก (แบบไม่มีอคติจากความรักลูก) พร้อมทั้งประเมินตัวเองในฐานะที่ต้องรับบทเป็นผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการแบบเต็ม ๆ หากตั้งธงว่าจะไปสอบแล้ว เราก็ต้องพร้อมใจที่จะทุ่มเทกันทั้งครอบครัว เพราะเราเหลือเวลาเตรียมตัวเพียง 1 ปี น้อยกว่าคนอื่น ๆ อีกหลายพันคน จากที่เราสังเกตลูก แอบเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่น ๆ บ้าง จากผลการเรียนและพฤติกรรมที่คุณครูประเมินลูกก็คิดว่าเราพอมีลุ้น 1 ต่อ 30-40 เอาน่ะครั้งหนึ่งในชีวิตลองสู้ดูสักตั้งนะลูกนะ อีกอย่างการเรียนในแนวของโรงเรียนสาธิต ที่เน้นการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม มากกว่าวิชาการเข้มข้นน่าจะเป็นคำตอบที่ตรงกับอุปนิสัยของลูก และแก้ปัญหาการไม่อยากไปโรงเรียนของลูกได้ด้วย ถ้าลูกอยากไปโรงเรียนเรียนก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการรักเรียนต่อไปในอนาคต  :D

เริ่มบทเจ๊ดัน

เมื่อคิดจะเบนเข็มมาทางนี้แม่น้องกานต์จึงต้องหาข้อมูลอย่างหนัก  ก็เพราะเราตั้งใจจะติวลูกเอง ด้วยความที่ไม่เคยสนใจมาก่อนเลยว่าแนวสาธิตเขาสอบวิชาอะไรกันบ้าง กับสนามใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศนี้เพื่อน ๆ นึกถึงเพลง “ลูกหิน”ของคาราบาว  ไปด้วยจะได้อารมณ์ม๊ากค่ะ พ่อแม่ไม่มีเงินทองขนาดนั้น อาวุธเดียวที่พ่อกับแม่จะให้ลูกได้ก่อนลงสนามก็คือความรู้ ที่เหลือก็แล้วแต่นะ ลูกนะ

หาข้อมูลโรงเรียนสาธิต

  1. โรงเรียนสาธิต เค้ามีที่ไหนกันบ้าง เมื่อออกนอกกะลามาได้ก็เพิ่งจะรู้ว่าโรงเรียนในกลุ่มสาธิตทั่วประเทศนั้นช่างมีมากมายเหลือเกิน มากถึง 59 โรงเรียนเลยทีเดียว มากกว่าที่เรา ๆ ท่าน ๆ รู้จักกันดี ว่ามีเพียง สาธิตจุฬาฯ, สาธิตเกษตรฯ, สาธิตประสานมิตร และ สาธิตรามฯ
  2. เกณฑ์อายุที่รับ แต่ละแห่ง แต่ละโรงเรียนมีเกณฑ์อายุรับสมัครเด็กที่แตกต่างกัน  ก็เพิ่งรู้อีกว่า โรงเรียนสาธิตประสานมิตร รับเด็กเล็ก ไม่ใช่ ป.1 อ้าวอายุเกินซะแล้วซิเรา... อดไป 1 แห่ง ดังนั้นดูเกณฑ์อายุให้ดีค่ะ
  3. วิชาที่ต้องใช้สอบ จากการหาข้อมูล ตลอดจนศึกษาตำราติวสอบต่าง ๆ ที่วางขายในท้องตลาดและแนวข้อสอบเก่า  จึงรู้ว่าในการสอบวัดผลมีเพียงแค่ 3 วิชา คือ คณิตศาสตร์, ภาษาไทย และเชาวน์ เพื่อน ๆ ที่คิดจะสอบ ให้ดูหนังสือกลุ่มนี้ไว้ค่ะ สำนักพิมพ์ต่าง ๆ มีให้เลือกซื้อมากมาย

รายชื่อโรงเรียนสาธิตใน กทม.

  • โรงเรียนมัธยมสาธิตวัดพระศรีมหาธาตุ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร เขตบางเขน
  • โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขตปทุมวัน
  • โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เขตดุสิต
  • โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง เขตบางกะปิ
  • โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน เขตปทุมวัน
  • โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร เขตวัฒนา
  • โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขตจตุจักร
  • โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เขตธนบุรี

รายชื่อโรงเรียนสาธิต ในสังกัดมหาวิทยาลัยของรัฐทั่วประเทศ

  • โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา
  • โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา
  • โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยทักษิณ
  • โครงการจัดตั้ง โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยพะเยา
  • โรงเรียนสาธิต "พิบูลบำเพ็ญ" มหาวิทยาลัยบูรพา
  • โรงเรียนมัธยมสาธิตมหาวิทยาลัยนเรศวร
  • โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
  • โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง
  • โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน
  • โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร
  • โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ องครักษ์ (สถาบันวิจัย พัฒนา และสาธิตการศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ)
  • โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศิลปากร
  • โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

นอกจากนี้ยังมีกลุ่ม รร.สาธิตในสังกัดหมาวิทยาลัยราชภัฏ และมหาวิทยาลัยเอกชนอีกด้วย ดูเพิ่มเติมได้จาก "วิกิพีเดีย" ค่ะ

• เกณฑ์อายุที่รับของแต่ละแห่ง

แต่ละโรงเรียนมีเกณฑ์อายุรับสมัครเด็กที่แตกต่างกัน ก็เพิ่งจะรู้อีกว่า รร.สาธิตประสานมิตร เค้ารับเด็กเล็กเข้าเรียนอ.3 ไม่ใช่ ป.1

อ้าวอายุเกินไปซะแล้วซิเรา..อดไป 1 แห่ง ดังนั้นดูเกณฑ์อายุให้ดีค่ะ


• วิชาที่ต้องใช้สอบ

จากการหาข้อมูล ตลอดจนศึกษาตำราติวสอบต่างๆที่วางขายในท้องตลาดและแนวข้อสอบเก่า จึงรู้ว่าในการสอบวัดผลของ
สาธิตเกษตร
มีเพียงแค่ 3 วิชา คือคณิตศาสตร์, ภาษาไทยและเชาวน์

ดังนั้นเพื่อนๆที่เพิ่งคิดจะสอบ ไม่ต้องกลัวค่ะเรายังมีเวลาเตรียมตัวได้ทัน...สู้ๆนะ ศึกษาข้อมูลจากหนังสือติวสอบของสำนักพิมพ์ต่างๆ

แล้วไปเลือกซื้อมาเลยค่ะ

เลือกโรงเรียนเป้าหมาย

เมื่อได้ข้อมูล โรงเรียนสาธิตทุกแห่งมาแล้วเราก็คัดกรองข้อมูลที่เป็นไปได้ และสรุปตัดสินใจเลือกสอบที่ โรงเรียนสาธิตเกษตร เพียงที่เดียวไม่วิ่งรอกสอบหลายที่ ด้วยเหตุผล คือ
  1. ระยะทาง โรงเรียนอื่นแม้ว่าแสนดี แต่หากสอบได้ เราก็คงลำบากมาก ๆ ในการไปรับ-ส่งลูก (ก็เรียนใก้ลบ้านซะเคยตัวทั้งแม่ทั้งลูกนี่นา  ;) )
  2. มีการเรียนการสอนต่อเนื่องไปจนถึง ม.6 หากเข้าได้ก็สบายไป 12 ปี
  3. โควต้ารับตรงเข้าเรียน คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ และคณะอื่นๆ หากลูกมีผลการเรียนที่ดีอย่างต่อเนื่องก็มีโอกาสได้รับพิจารณาคัดเลือกเข้าเรียนต่อได้ ที่แอบฝันไว้ก็คือภาควิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศ
  4. ความรักและคุ้นเคยในสถาบัน  อันนี้ส่วนตัวไปนิดนึงคือแม่น้องกานต์จบจากคณะสังคมศาสตร์ ซึ่งก็อยู่ใก้ล ๆ รั้ว โรงเรียนสาธิต เห็นมาจนชินจึงเพิ่มคะแนนบวกให้น้ำหนักโทษฐานที่คุ้นเคยอีกเล็กน้อย
  5. หากเลือกสอบ 2 แห่ง คือ เช้าไปสอบสาธิตเกษตร บ่ายไปสอบสาธิตจุฬา ตามที่มีเพื่อนผู้ปกครองรุ่นพี่ และหลาย ๆ ท่านเคยทำสำเร็จมาแล้ว เราก็เกรงว่าจะเหนื่อยและเครียดเกินไปสำหรับลูก

สร้างแรงจูงใจ จุดไฟให้ลูก

ที่สำคัญต้องพยายามให้ลูกมีความรู้สึกว่าอยากเรียนที่โรงเรียนนั้นเองก่อนค่ะ สร้างแรงขับจุดไฟให้เขาก่อน แล้วอธิบายให้ลูกเข้าใจว่าการแข่งขันสูงแค่ไหน แล้วลูกจะได้มีกำลังใจติวกับเรา ทุกอย่างก็เพื่อตัวลูกเอง จะได้เรียนใน โรงเรียนที่ใหญ่กว่า มีของเล่นมากกว่า เรียนอย่างสนุกสนานไม่ต้องทำการบ้านมาก และไม่ต้องไปสอบแข่งขันเพื่อเรียนต่อที่โหดกว่านี้หลายเท่าในชั้น ป.6 ที่ต้องเลื่อนชั้นไปเป็น ม.1

.... อ่านต่อ ตอนที่ 2/3